11 เขื่อนใหญ่วิกฤต เร่งพร่องน้ำรับพายุ

ภัยพิบัติ
2 ส.ค. 61
16:35
6,842
Logo Thai PBS
11 เขื่อนใหญ่วิกฤต เร่งพร่องน้ำรับพายุ
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 11 แห่ง หวั่นพายุเข้าไทยอีกหนึ่งลูก ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม 6 จังหวัดยังวิกฤต เฝ้าระวังน้ำท่วมเพิ่มอีก 2 จังหวัด

วันนี้ (2 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศเฝ้าระวัง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 11 แห่ง เนื่องจากคาดว่าในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ จะมีพายุเข้ามาประเทศไทยอีกหนึ่งลูก ไทยพีบีเอสออนไลน์สรุปสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 11 แห่ง จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร์และสหกรณ์ พบว่า

  • เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาตรน้ำ 128 ล้าน ลบ.ม.ของความจุอ่าง 48 %
  • เขื่อนน้ำพุง มีปริมาตรน้ำ 102 ล้าน ลบ.ม. ของความจุอ่าง 62 %
  • เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาตรน้ำ 108 ล้าน ลบ.ม. ของความจุอ่าง 66 %
  • เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาตรน้ำ 797 ล้าน ลบ.ม. ของความจุอ่าง 33 %
  • เขื่อนลำปาว มีปริมาตรน้ำ 1,267 ล้าน ลบ.ม. ของความจุอ่าง 64 %
  • เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาตรน้ำ 79 ล้าน ลบ.ม. ของความจุอ่าง 51 %
  • เขื่อนปราณบุรี มีปริมาตรน้ำ 311 ล้าน ลบ.ม. ของความจุอ่าง 80 %

4 เขื่อนใหญ่ น้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุเขื่อน

ขณะที่สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ ร้อยละ 80 ขึ้นไป ของความจุอ่าง จำนวน 4 อ่าง โดยเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาตรน้ำ 522 ล้าน ลบ.ม. ของความจุอ่าง 100% ไม่สามารถรับน้ำได้อีก ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ปริมาตรน้ำ 15,258 ล้าน ลบ.ม. ของความจุอ่าง 86% รับน้ำได้อีก 2,487 ล้านลบ.ม. ส่วนปริมาตรน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี อยู่ที่ 7,298 ล้านลบ.ม. ของความจุอ่าง 82% ขณะนี้สามารถรับน้ำได้อีก 1,562 ล้านลบ.ม. และเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาตรน้ำ 656 ล้านลบ.ม. ของความจุอ่าง 92% รับน้ำได้อีก 54 ล้านลบ.ม.

6 จังหวัดยังวิกฤต เฝ้าระวังน้ำท่วมเพิ่ม 2 จังหวัด

สถานการณ์ 6 จังหวัด ที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ จังหวัดยโสธร ที่ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ไทยเจริญ อ.ป่าติ้ว อ.กุดชุม และ อ.คำเขื่อนแก้ว รวมพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 37,889 ไร่ ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ปัจจุบันรวมพื้นที่ประสบอุทกภัยประมาณ 17,000 ไร่ โดยโครงการชลประทานร้อยเอ็ด สนับสนุนมีรถแบ็กโฮ 6 คัน รถบรรทุก 8 คัน บริเวณจุดเสี่ยงที่มีน้้าปะทะพนัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว

ขณะที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเขื่อนลำปาวได้มีการเพิ่มการระบายน้ำ จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.กมลาไสย อ.ร่องค้า และ อ.ฆ้องไชย พื้นที่ประสบอุทกภัยรวมประมาณ 5,000 ไร่ และจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.นาตาล อ.เขื่องใน อ.เขมราฐ อ.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม อ.ดอนมดแดง และ อ.ตระการพืชผล รวมพื้นที่ประมาณ 270 ไร่

ส่วนนครพนม มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 8 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าอุเทน อ.ธาตุพนม อ.บ้านแพง อ.เมือง อ.โพนสวรรค์อ.ปลากปลา อ.เรณูนคร และ อ.นาแก รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 120,098 ไร่ คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 7 วัน โดยโครงการชลประทานนครพนมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง บริเวณ อ.เมือง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้้า 14 เครื่องที่
ประตูระบายน้ำต่างๆ

และสกลนคร มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.โคกศรีสุพรรณ อ.พรรณนิคม และอำเภอโพนนาแก้ว พื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 9,000 ไร่ โดยสำนักงานชลประทานที่ 5 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้้า 3 เครื่อง บริเวณ อ.เมือง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 6 เครื่อง บริเวณ ประตูระบายน้ำบ้านหนองบึง และ อ.โพนนาแก้ว

ขณะที่ จ.ตาก เกิดอุทกภัยบริเวณ อ.แม่สอด เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 3 เครื่อง จนสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ พบ 2 จังหวัดเฝ้าระวังอุทกภัย ได้แก่ จ.กาญจนบุรีและประจวบคีรีขันธ์ โดย อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.79 ม. ขณะที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรีระดับน้้าต่้ากว่า 0.23 ม.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง