"สามมิตร" คือการรวบตัวของอดีตนักการเมืองชื่อดัง ที่ประกาศตัวรวบรวมผู้สมัครส.ส. ชัดเจน ล่าสุดคือการลงพื้นที่ จ.อุบลฯ พบปะนักการเมืองท้องถิ่นและแกนนำนปช. ก่อนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ประชุมครม.สัญจร ที่ จ.อุบลฯ เพียงหนึ่งวัน
"สามมิตร" คือใคร ?
คือการรวมตัวโดยแกนนำ 3 คนสำคัญ หรือ "สาม ส." ได้แก่ 1.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 2.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ 3.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทั้งหมดเคยมีบทบาทสำคัญในพรรคไทยรักไทย และเคยเป็นคนใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่างกันแค่ครั้งนี้ประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และพร้อมทำงานกับพรรคพลังประชารัฐ
เปิดตัวกลุ่มสามมิตร
ต่อมากลุ่มสามมิตรเริ่มขยับ โดยการเชิญนักการเมืองกว่า 50 คน ร่วมพบปะพูดคุยที่สนามกอล์ฟ ไพน์ เฮิร์สท ในเดือนมิ.ย. ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดตัวสมาชิกกลุ่มแรกอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นอดีตผู้สมัครส.ส. ของพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยทั้งสิ้น
อาทิ คนตระกูล "เร่งสมบูรณ์สุข" ที่มีฐานเสียงใน จ.เลย ยกตระกูลเข้าร่วมกลุ่มสามมิตร และที่คาคไม่ถึงคือ "แรมโบ้อีสาน" หรือนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีดส.ส.เพื่อไทยและแกนนำนปช. ที่เคยสาบานว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก
"สามมิตร" เดินสายดูด
หลังเปิดตัวเดือน มิ.ย. กลุ่มสามมิตรเดินสายพบปะนักการเมืองต่อเนื่อง และทยอยเปิดตัวนักการเมืองอื่นๆ ที่เข้าร่วมกลุ่มสามมิตร อาทิ ตระกูล "รัตนเศรษฐ์" ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ครองฐานเสียง จ.นครราชศรีมา รวมถึงแกนนำนปช.-กปปส. เช่น นายเทพพนม นามลี แกนนำนปช.สุรินทร์ และนายสิระ เจนจาคะ แกนนำกปปส. เป็นต้น
เดือน ก.ค. การดูดส.ส. เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการเดินสายพบนักการเมืองภาคอีสาน เช่น วันที่ 22 ก.ค.2561 นายสมศักดิ์ลงพื้นที่พบปะนักการเมือง จ.อุบลฯ ก่อนการประชุมครม.สัญจรเพียงหนึ่งวัน ลงพื้นที่ตั้งแต่ จ.สกลนคร เพื่อร่วมทานอาหารกับนายถนอม สมผล แกนนำนปช. ต่อด้วยการเปิดสนามชนไก่ "ไทยศรีสงคราม" ที่จ.นครพนม และจบภารกิจด้วยการพบนปช.จ.อุดรฯ ที่ถูกดำเนินคดีเผาศาลากลางปี2553
ขณะที่การลงพื้นที่ของนายกฯ ยังมีนายสุรพล ฟองงาม อดีตส.ส. อุบลฯ พรรคเพื่อไทย นำทีมนักการเมืองต้อนรับนายกฯ ท่ามกลางกระแสข่าวเตรียมย้ายพรรคเข้าสังกัดพรรคประชารัฐ
ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มสามมิตรยังประกาศส่งเทียบเชิญพรรคชาติพัฒนาที่มีนายสุวัจน์ ลัปตพัลลภ เป็นแกนนำ เข้าร่วมงานกับกลุ่มสามมิตรอีกด้วย
นอกจากการเดินสายพูดคุยนักการเมืองต่อเนื่อง กลุ่มสามมิตรยังประกาศด้วยความมั่นใจว่ามีนักการเมืองร่วมงานกับกลุ่มสามมิตรแล้ว ไม่ต่ำ 200 คน
ตัวเลข 200 คนอาจยังไม่นิ่ง แต่ทางบวกคือนปช.-กปปส.หรือพรรคอื่นติดต่อมาทุกวัน บางคนอาจเปิดตัวได้ บางคนอยู่ขั้นตอนตกลงกัน พูดไปจะเสียหาย
ข้อสังเกตผู้เขียน กลุ่มสามมิตรไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อดูดนักการเมืองลงสมัครส.ส.สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีสถานะเป็นกลุ่มการเมืองเท่านั้น แตกต่างจากกลุ่มการเมืองที่อยู่ระหว่างจดทะเบียนพรรคการเมืองและพรรคการเมืองใหม่ ที่มีสถานะเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย
อ่านเพิ่ม พรรคใหม่เป็นแค่ตัวประกอบการเมือง
อ่านเพิ่ม เช็กความพร้อมพรรคการเมืองเก่า-ใหม่
วิเคราะห์กลุ่มสามมิตร
ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช เชื่อว่าการเคลื่อนไหวกลุ่มสามมิตร เป็นการเรียกราคา-ค่าตัว พร้อมเสนอตัวเป็นทางเลือกของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งการรวมกลุ่มช่วยเพิ่มแต้มต่อในการต่อรอง โดยเป็นรูปแบบของการเมืองแบบเก่า
ไม่เชื่อว่าดีลกับรัฐบาลแล้ว เพราะถ้าดีลแล้วไม่ต้องโชว์ และส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองเก่าจะกลับมาต้องสร้างราคา
ขณะที่นายนิพิฏ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ มองว่ากลุ่มสามมิตรคือนักการเมืองมืออาชีพ แต่ประชาชนจะไม่เลือก เพราะคนเลือกส.ส.ที่พรรค
ไม่ใช่ซื้อหรือดูดแล้วจะได้ผล เช่น ภาคใต้มีประชาธิปัตย์ ต่อให้ดูดก็มีโอกาสน้อย เหมือนอีสานมีโอกาสมากกว่าคือเพื่อไทย
นอกจากนี้ส.ส. ที่ถูกดูดเป็นเกรดรอง ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองไม่มีที่ลง เพราะเขตเดิมมีผู้สมัครซ้อนกันอยู่ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคใหญ่มากนัก
อย่างไรก็ตามกลุ่มสามมิตรเป็นกลุ่มที่น่าจับตา เพราะมีอดีตส.ส.ที่มีฐานเสียง และประกาศหนุนพล.อ.ประยุทธ์ชัดเจน จึงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีพลังหนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อไปได้หรือไม่