5 มรดกโลกของไทย มีอะไรบ้าง ?

สังคม
30 พ.ย. 61
15:32
209,222
Logo Thai PBS
5 มรดกโลกของไทย มีอะไรบ้าง ?
ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมมรดกของไทย 5 แห่งที่ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและมรดกโลกทางธรรมชาติ ล่าสุด "โขนไทย" เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

วันนี้ (30 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.-1 ธ.ค.นี้ ที่เมืองพอร์ตหลุยส์ สาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เข้าร่วมประชุม 181 ประเทศ

© Department of Cultural Promotion, Thailand, 2014

© Department of Cultural Promotion, Thailand, 2014

© Department of Cultural Promotion, Thailand, 2014


ขณะที่ที่ประชุมได้พิจารณาและประกาศให้ขึ้นบัญชี การแสดงโขนในประเทศไทย “Khon masked dance drama in Thailand” ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีมรดกโลกทางธรรมชาติและมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว 5 แห่ง ได้แก่  

3 มรดกโลกทางวัฒนธรรม

ปี 2534 เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม


ปัจจุบันเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชรเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ปรากฏหลักฐานร่องรอยของอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต สะท้อนให้เห็นภาพของอาณาจักรสุโขทัยเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งบ้านเมืองในฐานะรัฐอิสระ จนกลายเป็นรัฐสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นเวลานานกว่า 200 ปี

ด้วยความโดดเด่นนี้ ส่งผลให้เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์และได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 เมื่อปี 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย ด้วยคุณค่าและความโดดเด่นตามเกณฑ์มาตรฐานดังนี้

หลักเกณฑ์ข้อที่ 1: เป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรมที่มีความงดงาม และเป็นผลงานชิ้นเอกที่ได้รับการสร้างสรรค์จากอัจฉริยภาพด้านศิลปะอย่างแท้จริง

หลักเกณฑ์ข้อที่ 3: เป็นสิ่งที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือหลักฐานที่แสดงขนบธรรมเนียม ประเพณีหรืออารยธรรมซึ่งยังหลงเหลืออยู่ หรืออาจสูญหายไปแล้ว

โบราณวัตถุและโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเมืองประวัติศาสตร์นี้แสดงให้เห็นถึงผลงานสร้างสรรค์อันล้ำเลิศของมนุษย์ ความงดงามอลังการของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสุโขทัยเป็นต้นแบบที่มีอิทธิพลต่อศิลปกรรมไทยสกุลช่างในระยะต่อมา ความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และพระพุทธรูปปางลีลา เป็นสิ่งยืนยันถึงความสำเร็จของศิลปกรรมในยุคแรกนี้ได้เป็นอย่างดี

ปี 2534 นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร จ.พระนครศรีอยุธยา

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม


แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 1,810 ไร่ในเขตเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยายังคงปรากฏร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ งดงามและทรงคุณค่า สะท้อนให้รำลึกถึงความสง่างามของปราสาท ราชวัง วัดวาอาราม ป้อมปราการ และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยาในอดีต

นครประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นหลักฐานแสดงถึงความชาญฉลาดของชุมชนหนึ่ง นับตั้งแต่การเลือกที่ตั้งชุมชนในบริเวณที่มีแม่น้ำ 3 สายมาบรรจบกัน เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันข้าศึก ศัตรูจากภายนอก

ขณะที่ผลงานด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป์ และวรรณกรรม ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดของอารยธรรมแห่งชุมชนหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระยะเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-24 อีกด้วย

หลักฐานแห่งอารยธรรมของชาวกรุงศรีอยุธยาส่งผลให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูซิเนีย เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2534  ด้วยหลักเกณฑ์ของคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value, OUV) ในข้อที่ 3 ดังนี้

หลักเกณฑ์ข้อที่ 3: เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ หรืออาจสูญหายไปแล้ว

ปี 2535 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม


แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวแทนวิวัฒนาการด้านวัฒนธรรมสังคม และเทคโนโลยีที่มีความเจริญรุ่งเรืองสืบทอดยาวนานกว่า 5,000 ปี ในช่วงเวลาระหว่าง 3,600 ปี ก่อนคริสตศักราชถึงคริสตศักราช 200 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปีพุทธศักราช 2535 จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยคุณค่าและความโดดเด่นตามหลักเกณฑ์มาตรฐานข้อที่ 3 ดังนี้

หลักเกณฑ์ข้อที่ 3: เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ หรืออาจสูญหายไปแล้ว

นักโบราณคดี สันนิษฐานว่า วัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง แบ่งได้เป็น 3 ยุค คือ

1) ยุคต้น มีอายุระหว่าง 3,600-1,000 ปีก่อนคริสตศักราช (ราว 5,600-3,000 ปีมาแล้ว) ภาชนะดินเผาที่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดในยุคนี้ คือ ภาชนะดินเผาสีดำและสีเทาเข้ม มีเชิงหรือ ฐานเตี้ยตกแต่งลวดลายคล้าย

2) ยุคกลาง มีอายุระหว่าง 1,000-300 ปีก่อนคริสตศักราช (ราว 3,000-2,300 ปีมาแล้ว) ภาชนะดินเผาที่โดดเด่นที่สุดเป็นภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ก้นกลมและก้นแหลมผิวนอกมีสีขาวนวล ตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนสี การฝังศพมักวางศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาวมีเศษภาชนะดินเผาที่ถูกทุบคลุมทั้งตัว

3) ยุคปลายมีอายุระหว่าง 300 ปี ก่อนคริสตศักราช ถึงคริสตศักราช 200 (ราว 2,300-1,800) ภาชนะดินเผา มีความโดดเด่นสวยงามมากมีทั้งภาชนะเขียนลายสีแดงบนพื้นสีขาวนวล ภาชนะเขียนลายสีแดง (อิฐ) บนพื้นสีแดงและภาชนะสีแดงขัดมัน ส่วนประเพณีการฝังศพมักวางศพนอนหงายเหยียดยาวมีภาชนะดินเผาเต็มใบวางอยู่บนลำตัว

2 มรดกโลกทางธรรมชาติ

ปี 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง (ครอบคลุมพื้นที่ จ.อุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก)

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งเป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการประเมินคุณค่าให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ประกาศขึ้นทะเบียน เมื่อปี พ.ศ.2534 เป็นหนึ่งในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญของ Indomalayan Realm ด้วยคุณสมบัติโดดเด่น ตามเกณฑ์มาตรฐานดังนี้

หลักเกณฑ์ข้อที่ 7: เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางธรณีวิทยา และวิวัฒนาการทางชีววิทยาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของมนุษย์

หลักเกณฑ์ข้อที่ 9: เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความพิเศษเป็นเลิศ รวมทั้งมีความงดงามตามธรรมชาติที่หาได้ยากยิ่ง

หลักเกณฑ์ข้อที่ 10: เป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและสัตว์หายากของโลกที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกและเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทาง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดชายแดนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ราว 350 กิโลเมตร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ในเขตพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และตาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอยู่ทางทิศตะวันออกในเขตพื้นที่ของ จ.อุทัยธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสองแห่งนี้เป็นป่าต้นน้ำของลำน้ำสำคัญทางธรรมชาติที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำแควใหญ่ตอนบน (แม่น้ำแม่กลอง และลำห้วยขาแข้ง)

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ได้รับการยกย่องให้เป็นผืนป่าอันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่รวมประมาณ 6,222 ตารางกิโลเมตร หรือ 388,750 ไร่

นับเป็นผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ของประเทศที่เป็นตัวแทนแสดงลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญของผืนป่าในแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภูมิศาสตร์ถึง 4 เขต คือ อินโด-หิมาลายัน ซุนดา อินโด-เบอร์มิส และอินโดจีน รวมทั้งเป็นถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ทั้ง 4 เขต อีกทั้งที่ราบฝั่งตะวันออกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นบริเวณที่โดดเด่นที่สุด เป็นตัวแทนระบบนิเวศป่า เขตร้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก

ทั้งนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2503 (ปรับปรุงแก้ไขปีพุทธศักราช 2535) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อการคุ้มครองสัตว์ป่าที่นับวันจะลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ กฎหมายฉบับนี้จึงมีความเข้มงวดมากกว่ากฎหมายป่าไม้ฉบับอื่นๆ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการโดยตรง คือ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ปี 2548 กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (ครอบคลุมพื้นที่ จ.สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์)

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม


พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง หรือพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ มีเนื้อที่รวมกันทั้งสิ้น 3,854,083.53 ไร่ หรือ 6,152.13 ตารางกิโลเมตร

ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ โดยด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าบันทายฉมอร์ (Banteay Chmor) ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ (Protected Landscape) ของราชอาณาจักรกัมพูชา

รัฐบาลไทยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสู่อนาคต จึงได้ประกาศจัดตั้งพื้นที่ป่าเขาใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณดงพญาเย็นของเทือกเขาพนมดงรักให้เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งนับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย เมื่อปี 2505 และเมื่อกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีประสบการณ์และความพร้อมในด้านต่างๆ สูงขึ้น

รัฐบาลชุดต่อๆ มาได้ประกาศให้ป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยา เป็นอุทยานแห่งชาติในปีพุทธศักราช 2524 2525 และ 2539 ตามลำดับ รวมทั้งประกาศ ป่าดงใหญ่ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยา ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในปีพุทธศักราช 2539

การประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทั้ง 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง ทำให้ผืนป่าบริเวณนี้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ จนได้รับการขนานนามว่า “พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ซึ่งเชื่อว่าเอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก หากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและถูกหลักการ

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-ปางสีดา-ทับลาน-ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ “พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขา ใหญ่” จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 เมื่อปี 2548 ที่เมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยมีคุณสมบัติโดดเด่นตามเกณฑ์มาตรฐานในข้อ 10 ดังนี้

หลักเกณฑ์ข้อที่ 10: เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

ขณะที่เว็บไซต์ของยูเนสโกยังระบุว่า ขณะนี้ไทยมีสถานที่ที่ขึ้นอยู่ในรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) จำนวน 6 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นมรดกโลก  ประกอบด้วย

  • เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง-ปราสาทเมืองต่ำ
  • อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 
  • กลุ่มป่าแก่งกระจาน 
  • วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร 
  • อนุสรณ์สถานและพื้นที่ทางวัฒนธรรมในเชียงใหม่ เมืองหลวงแห้งล้านนา 
  • วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ คณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เตรียมเสนอมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเสนอต่อยูเนสโก เพื่อขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติในปี 2562 ได้แก่ นวดแผนไทย รวมทั้งยังมีการศึกษาแนวทางการเสนอมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่มีความคล้ายคลึงกันกับประเทศต่างๆ เพื่อเสนอเพิ่มเติมด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก :
เว็บไซต์ยูเนสโก  
https://whc.unesco.org/en/statesparties/th

เว็บไซต์ ฐานข้อมูลมรดกโลกของประเทศไทย 
http://heritage.onep.go.th/Thai-World-Heritage/TWH/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง