วันนี้(23 ธ.ค.2561) ความคืบหน้าเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิต ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสาเหตุเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ "อานัก กรากาเตา" ที่ทำให้เกิดดินถล่มใต้ทะเลจนเกิดคลื่นสึนามิสูง 2 เมตร ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงกว่า 200 คน
โดยหนึ่งในเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในโซเชียล เกิดขึ้นในเหตุการณ์ที่เวทีคอนเสิร์ตของวงดนตรี "เซเว่นทีน" ที่กำลังเล่นดนตรีในงานเลี้ยงฉลองปีใหม่ของบริษัทแห่งหนึ่ง ถูกคลื่นสึนามิซัดถล่ม ทำให้คนดูซึ่งเป็นพนักงานบริษัทประมาณ 250 คน ต่างวิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอด
เฉพาะจุดนี้มีผู้เสียชีวิต 7 คน สูญหาย 89 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีผู้จัดการวงและมือเบสของวง "เซเว่นทีน" รวมอยู่ด้วย ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ทั้งหมด เพิ่มเป็น 222 คนบาดเจ็บมากกว่า 800คน สูญหาย 28 คน

ด้านสถานเอกอัครราชทูตณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซียรายงานว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบว่ามีคนไทยได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิดังกล่าว โดยนักศึกษาไทยประมาณ 30 คนที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติในเมืองลัมปุงปลอดภัยดี
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเวลา 21.30 น. คาดว่าคลื่นสึนามิเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ อานัก กรากาเตา จนทำให้เกิดดินถล่มใต้ทะเล ภูเขาไฟลูกนี้อยู่บริเวณช่องแคบซุนดา ระหว่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์น้ำขึ้้นน้ำลง ส่งผลให้คลื่นสึนามิมีความสูงถึง 2 เมตรในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ระบุว่าก่อนที่จะเกิดคลื่นสึนามิ พวกเขาไม่เห็นความผิดปกติใดๆ อย่างเช่นน้ำทะเลลดระดับลงอย่างรวดเร็ว หรือแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ซึ่งตามปกติแล้วจะเป็นสัญญานเตือนให้ระวังคลื่นสึนามิ

ย้อนเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด "อินโดนีเซีย"
2561 ถือเป็นปีแห่งความบอบช้ำของประเทศอินโดนีเซีย ที่เผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงหลายครั้ง ทั้งแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และภูเขาไฟปะทุ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งเนื่องจากอินโดนีเซียตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่เรียกว่า "วงแหวนแห่งไฟ"
เหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุครั้งแรกของปีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยภูเขาไฟซินาบุง ปะทุพ่นเถ้าถ่านและกลุ่มควันลอยขึ้นไปเหนือท้องฟ้าถึง 5,000 เมตร เป็นการปะทุครั้งใหญ่ที่สุดของภูเขาไฟลูกนี้ นับตั้งแต่ปะทุครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค.ปี 2553
เหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุครั้งต่อมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมาการปะทุของภูเขาไฟอากุงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหนัก โดยสนามบินนานาชาติบนเกาะบาหลี ต้องปิดทำการชั่วคราว
ถัดมาคือวันที่ 5 ส.ค. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.9 ที่เกาะลอมบอก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400 คน และต้องอพยพนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว

หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ในวันที่ 23 ก.ย. ภูเขาไฟ อานัก กรากาเตา เกิดการปะทุและมีธารลาวาไหลออกจากปากปล่องภูเขาไฟ แต่การปะทุในครั้งนั้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการบินหรือการเดินเรือแต่อย่างใด
หลังภูเขาไฟ อานัก กรากาเตา ปะทุเพียง 6 วัน ก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ขนาด 7.5 บนเกาะสุลาเวสี ทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูง 2 เมตร ซัดถล่มชายฝั่ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน สูญหายประมาณ 5,000 คน ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 88,000 คน โดยหมู่บ้านปาลู เป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมาก
ที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อานัก กรากาตัว" ระเบิดเวลาแห่งอดีตต้นเหตุคลื่นยักษ์ถล่มอินโดฯ
"ภรรยา" นักร้องดังวง Seventeen สูญหายในสึนามิ