เปิดปม : สังเวียนไม่เดียงสา

25 ธ.ค. 61
14:28
1,147
Logo Thai PBS
เปิดปม : สังเวียนไม่เดียงสา
ร่าง พ.ร.บ.กีฬามวยฉบับใหม่ ที่มีสาระสำคัญ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี แข่งขันมวยไทยอาชีพ เพราะเสี่ยงอันตรายบาดเจ็บทางสมองเรื้อรัง ที่ยังคงถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ สมาคมกีฬามวยอาชีพฯ และตัวแทนค่ายมวยต่างไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่ากฎหมายเดิมครอบคลุมอยู่แล้ว
เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรแข่งชกมวยอาชีพได้หรือไม่ เป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

สังเวียนมวยเด็ก มีจัดแข่งขันให้ประลองชั้นเชิงมวยไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ต่างจากเวทีของนักมวยรุ่นใหญ่ และทุกครั้งที่มีรายการแข่งขันของนักชกวัยเยาว์ บรรยากาศรอบสนาม ทั้งเซียนมวยและคนดูรอบเวที เต็มไปด้วยความคึกคัก

นักมวยเด็กส่วนใหญ่ เต็มใจและยินดีขึ้นสังเวียน นักมวยเด็กหลายคน บอกว่า พวกเขาเข้าสู่แวดวงหมัดมวย เพราะครอบครัวมีฐานะยากจน และการชกมวย เป็นกีฬาที่เด็กสามารถใช้หาเงินเลี้ยงชีพได้

กีฬามวยไม่ได้อาศัยเพียงกำลังปะทะกันเท่านั้น แต่ต้องใช้ไหวพริบ เอาชนะการออกอาวุธของคู่ต่อสู้ให้ได้ ถ้ากฎหมายไม่ให้เด็กแข่งชกมวยก็น่าเสียใจ เพราะพ่อแม่ก็จะไม่มีเงิน

 

นี่เป็นคำพูดของ ด.ช.เอราวัณ จันทะจังสี นักมวยเด็กวัย 11 ปี ฉายาบนสังเวียนคือ "กะเทยผีดิบ" หนึ่งในนักมวยเด็กอนาคตไกลของค่ายมวยบ้านแรมบ้า จ.ชลบุรี เขาเริ่มชกมวยมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนได้แชมป์แข่งมวยอาชีพมากกว่า 3 รายการ หนึ่งในนั้นเป็นรางวัลจากเวทีมวยราชดำเนิน

วิ่งเช้า วิ่งเย็น ตีเข่า แทงกระสอบ เตะเป้า เล่นเชิงมวย ลงนวม ออกอาวุธ เป็นกิจวัตรประจำวันการฝึกซ้อมตามโปรแกรมหลัก ที่กำหนดไว้สำหรับนักมวยเด็ก ค่ายมวยบ้านแรมบ้า กลุ่มเด็กที่ฟิตซ้อมร่างกาย ล้วนมีรายการกำลังจะขึ้นชกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

แรมบ้า สมเดช เอ็ม16 ครูมวยและเจ้าของค่ายมวยบ้านแรมบ้า บอกว่า แรงจูงใจที่ตั้งค่ายมวยนี้ขึ้นก็เพราะเห็นเด็กๆ ในพื้นที่ มีฐานะความเป็นอยู่ไม่ดีนัก เขาคิดว่า ค่ายมวยจะช่วยสร้างอนาคตที่ดีให้กับเด็กได้ ที่สำคัญยังสร้างวินัย และทำให้เด็กรักกีฬา

 

 

เขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ที่เนื้อหาส่วนหนึ่งคือ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี แข่งขันชกมวย แต่เห็นด้วยกับ ระเบียบคณะกรรมการกีฬามวยว่าด้วยความปลอดภัยสำหรับนักมวย พ.ศ. 2543 ที่กำหนดไว้อยู่แล้วว่า ให้นักมวยต้องหยุดพักร่างกายไม่ต่ำกว่า 21 วัน เพื่อถนอมระบบประสาท สมองและชีวิต เพราะถือเป็นความรับผิดชอบต่อนักมวย

 

 

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 สาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นแข่งขันชกมวย โดยในการจัดการแข่งขันต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมประสบการณ์ในกิจกรรมด้านการกีฬา และมีมาตรการป้องกันอันตรายทางร่างกาย รวมทั้งมีกฎกติกาการเล่นที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีงานวิจัยสนับสนุนว่ามีผลกระทบต่อสมองของนักมวยเด็กอย่างชัดเจน


เป้าหมายสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนกฎกติกาการชกมวย ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กไม่ให้บอบช้ำหรือได้รับบาดเจ็บรุนแรงอันจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการตามวัยของเด็ก

พล.อ.อดุลยเดช อินทะพงษ์ ประธานคณะทำงานปรับปรุง พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 สนช.บอกว่า กลุ่มนักมวย และผู้เกี่ยวข้องออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงกฎหมายจำกัดอายุของนักมวยเด็ก เพราะมองเรื่องประสบการณ์สร้างกระดูกของนักมวยตั้งแต่เด็ก และกังวลว่านักมวยเด็กต่างชาติจะมีประสบการณ์นำหน้ากีฬามวยของไทย เนื่องจากทุกวันนี้เด็กต่างชาติก็มีพัฒนาการเทียบเท่า หรืออาจนำหน้าไปแล้ว แต่อย่าลืมว่า เรามีวิทยาศาสตร์การกีฬานำมาประยุกต์ใช้ได้

 

 

 

ขณะที่ นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย มองว่า พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ระบุหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ มวยเด็ก ไว้ครอบคลุมแล้ว เพียงแต่ยังมีผู้เกี่ยวข้องบางส่วนไม่ปฎิบัติตามกันเท่านั้น ขณะที่การร่างพระราชบัญญัติกีฬามวยฉบับแก้ไข เป็นการแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายเดิมเกือบทั้งหมดโดยไม่มีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า กระทรวงแรงงานและสหรัฐอเมริกายังคงรายงานประจำปี 2017 ให้การชกมวยไทยของเด็กเพื่อหาเงิน (muaythai paid fighter) เป็นหนึ่งในเรื่องการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้าย และได้มีความเห็นว่าเรื่องดังกล่าวขัดแย้งกับกฎหมายอื่นในประเทศอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และ พ.ร.บ.แรงงาน แต่รัฐบาลและสังคมไทย ก็ยังคงยอมรับและปล่อยให้การใช้แรงงานที่เลวร้ายนี้ ปรากฎอยู่ในสังคมไทยได้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง