ชาวนาค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว หวั่นถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์

เศรษฐกิจ
13 ก.พ. 62
11:02
2,508
Logo Thai PBS
ชาวนาค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว หวั่นถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.ข้าว โดยตรงคือชาวนาที่ต้องซื้อหาพันธุ์ข้าวไว้เพาะปลูก รวมถึงผู้ผลิตและจำหน่ายพันธุ์ข้าว บางส่วนกังวลว่าการจำหน่ายพันธุ์และการจัดหาจะทำได้ยากลำบากขึ้นจากการควบคุมที่เข้มข้น

ข้าวพันธุ์พื้นเมืองทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้ากว่า 10 สายพันธุ์ เช่น ข้าวพันธุ์เล้าแตก ข้าวพันธุ์ลืมผัว ซึ่งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร ได้รวมกลุ่มคัดเลือกสายพันธุ์และจำหน่ายให้กับเกษตรกรมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ละปีกำลังการผลิตกว่า 30 ตัน

นายดาวเรือง พืชผล ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวว่า แม้คณะกรรมาธิการวิสามัญจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มวิสาหกิจฯ เนื่องจากได้จดทะเบียนและขออนุญาตกับกรมการข้าวอย่างถูกต้องแล้ว แต่หากตีความร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถคัดสายพันธุ์ข้าวได้เองหรือต้องไปลงทะเบียนให้ถูกต้องนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการบีบบังคับวิถีของเกษตรกรมากเกินไป

อุบล อยู่หว้า

อุบล อยู่หว้า

อุบล อยู่หว้า

ขณะที่นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ระบุว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีองค์กรที่จัดการเรื่องข้าวอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ การผลิต การแปรรูปและการตลาด เมื่อมี พ.ร.บ.ข้าว บังคับใช้ ซึ่งอาจจะไปควบคุมการผลิตของเมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตร ยิ่งเป็นการซ้ำเติม เพราะปัจจุบันเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์เอง รัฐบาลควรจะใช้ พ.ร.บ.พันธุ์พืชปี 2518 มาใช้ เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับปรุงเมล็ดพันธุ์

การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์มี พ.ร.บ.พันธุ์พืชปี 2518 ควบคุมอยู่ จึงควรไปดูรายละเอียดในกฎหมายและปรับปรุงให้ชาวนามีโอกาสจัดการตัวเอง ไม่ใช่สร้างกฎหมายใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจเข้าหน่วยราชการและบังคับชาวนาเข้าสู่ระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ บอกได้เลยว่าชีวิตชาวนาจะไม่ดีขึ้นจากกฎหมายนี้

ชาวนาหวั่นผลกระทบเมล็ดพันธุ์ข้าว

ขณะที่ผู้จำหน่ายพันธุ์ข้าวย่านถนนข้าวปลูก บริเวณถนนสายท่าชัยนางลือ อ.เมือง จ.ชัยนาท ที่มีผู้ประกอบการข้าวปลูกและมีโกดังจำหน่ายเมล็ดพันธุ์จำนวนมาก โดยนายไพศาล จิ๋วรี เจ้าของสัญญาพันธุ์ข้าว 9 ตั้ง ชมรมผู้ผลิตพันธุ์ข้าว ยอมรับว่า ยังไม่มีความเข้าใจกับร่าง พ.ร.บ.ข้าว ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายพันธุ์ โดยนายไพศาลเล่าว่า ที่ผ่านมาชาวนาในพื้นที่ได้จัดตั้งชมรมผู้ผลิตพันธุ์ข้าวขึ้นมา เนื่องจากที่ผ่านมาเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงส่งเสริมให้ชาวนารวมกลุ่มกันผลิตพันธุ์ข้าว โดยเจ้าหน้าที่จากกรมการข้าวเข้ามาตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งไปขายทั่วประเทศ

 

นายไพศาล ยังยอมรับว่า ไม่มีความรู้เรื่องการแก้ไขกฏหมายเพื่อจะเข้ามาควบคุมการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ทั้งที่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและยืนยันว่าที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ออกจำหน่ายมาตลอด

เป็นไปไม่ได้ เพราะงบประมาณ อัตรากำลังไม่เพียงพอแน่ พื้นที่ของเราที่ทำนา 100% เขาสามารถมีปริมาณข้าวรองรับได้ไม่เกิน 20% ทั่วประเทศ เขาจะต้องส่งเสริม ตอนนี้ผมทราบแต่นโยบายในอดีต แต่ร่างกฎหมายใหม่นี้ไม่ทราบ

ขณะเดียวกันชาวนาใน จ.ปราจีนบุรี เริ่มกังวลใจว่าจะกระทบกับการซื้อหาเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในปีต่อๆ ไป โดยชาวนาในหลายพื้นที่ต่างเห็นตรงกันว่า การออกกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตพวกเขาโดยตรง น่าจะมีการให้ข้อมูลและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย

ก.เกษตรฯ ส่งความเห็น สนช.ค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว

ขณะที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ข้าว ที่เป็นการจำกัดสิทธิในการขยายและพัฒนาพันธ์ข้าวของชาวนา โดยได้ส่งความเห็นคัดค้านเรื่องนี้ไปยัง สนช.แล้ว เบื้องต้นทางกรรมาธิการเตรียมนำเรื่องนี้ไปกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล เพื่อขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป

กฤษฎา บุญราช

กฤษฎา บุญราช

กฤษฎา บุญราช

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เชื่อว่า หลังหลายฝ่ายแสดงความกังวลกับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ข้าว คณะกรรมาธิการและ สนช.จะรับฟังความเห็นเหล่านี้ไปประกอบการพิจารณา และก่อนที่ สนช.จะมีการพิจารณาเพื่อลงมติร่าง พ.ร.บ.ข้าวในวาระ 2 และ 3 รัฐบาลได้ส่งตัวแทนไปหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง

สำหรับประเด็นที่กระทรวงเกษตรฯ ตั้งข้อสังเกตอยู่ในมาตรา 27 เรื่องการพัฒนาและการค้าเมล็ดพันธุ์ ที่กำหนดให้ผู้จำหน่ายพันธุ์ข้าวต้องขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะส่งผลให้วิถีการทำนาแบบในอดีตที่ชาวนาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองและพัฒนาพันธุ์แบบค่อยเป็นค่อยไปทำได้ยากขึ้น และต้องเปลี่ยนมาเป็นการซื้อจากบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแทน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์ผลประโยชน์ พ.ร.บ.ข้าว ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง