เรียกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมี 3 สถานะด้วยกัน และสถานะที่กำลังเป็นโจทย์หลัก ให้ต้องตีความกัน ก็คือสถานะพิเศษ ในตำแหน่งหัวหน้า คสช. ซึ่งหากสถานะนี้ ชัดเจนในทางกฎหมายก็จะทำให้อีก 2 สถานะ ถูกต้องและเหมาะสมไปด้วย แต่ถ้าไม่ใช่ก็ปฏิเสธผลทางการเมืองที่จะตามมาไม่ได้
เดิมนั้นมีคำร้องที่สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นไว้ที่ กกต.คือร้องคัดค้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐและเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีสมาชิกพรรคเพื่อชาติไปแจ้งความกล่าวโทษ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. แต่กลับยินยอมเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐไว้ที่ สน.ประชาชื่น อีก
ถ้าชี้ไปที่ผู้ยื่นคำร้องหรือเข้าแจ้งความกล่าวโทษ ก็ต้องยอมรับว่านี่คือเกมการเมืองที่กำลังปั่น-กำลังสร้าง กระแสเชิงเปรียบเทียบถึงมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย ระหว่างไทยรักษาชาติกับพลังประชารัฐ แต่ก็ปฏิเสธข้อเท็จจริงในสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เช่นกัน
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 264 ว่าให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นั่นหมายถึงสถานะเต็มของรัฐบาล-คสช. และของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีฐานะเป็นหัวหน้า คสช.โดยมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 6/2557 เรื่อง แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน คสช. เพื่อการบริหารประเทศ และการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ซึ่งหมายถึง กฎหมายที่รองรับสถานะ และอำนาจหน้าที่อยู่ด้วย
แต่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ก็เขียนลักษณะต้องห้ามไว้ ในมาตรา 98 (15) ว่านายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ดังนั้นทั้ง 3 สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังพัวพันกันและกลายเป็นข้อครหา เพราะถ้าไม่ตีความในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่า เป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตามมาตรา 98 (12) ซึ่งรัฐธรรมนูญ ยกเว้นไว้อยู่นั้นแล้วไปตีความกันที่ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่ง ที่ตั้งขึ้นชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ถ้าเป็นนั่นแสดงว่า เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมืองไม่ได้
แต่ถึงขณะนี้ ใครจะตีความอย่างไร-แบบไหน ขึ้นอยู่กับข้อมูลพื้นฐานของฝ่ายนั้น และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกข้างทางการเมือง กกต.อาจจะเยียวยาประเด็นนี้ได้ดีที่สุด ในฐานะที่มีคำร้องค้างอยู่ในมือ หากวินิจฉัยให้ชัดว่า "ไม่ใช่" ปัญหาก็จะได้จบ แต่ถ้า "ใช่"ปัญหานี้เรียกว่า แก้กันหลายชั้น ยิ่งหากทอดออกไปวินิจฉัยหลังเลือกตั้งอีก ยิ่งยุ่งยากซับซ้อน เพราะถ้าพรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 คงต้องเริ่มต้นแก้ปัญหากันตั้งแต่ต้นทาง