วันนี้(6 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก #SaveChiangrak ติดเทรนด์ทวีตเตอร์ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ทำให้โลกโซเชียล ได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยู่ระหว่างการสอบกลางภาค ระหว่างวันที่ 3 – 10 มี.ค.นี้ ซึ่งช่วงก่อนหน้านั้นเป็นการเตรียมสอบของนักศึกษา เสียงดนตรีจากงานบวช ได้เริ่มดังขึ้นตั้งแต่วันศุกร์
นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งให้ข้อมูลกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางเสียงจากงานบวชที่จัดขึ้นในช่วงวันที่ 2-4 มี.ค.ที่ผ่านมา ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงสอบกลางภาคของนักศึกษา ซึ่งกำหนดสอบระหว่างวันที่ 3-10 มี.ค.นี้
โดยนักศึกษาคนดังกล่าวโพสต์เฟซบุ๊ก ถึงสถานการณ์เพลงลูกทุ่งสะเทือนรังสิตว่า งานบวชเริ่มเปิดเพลงตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา คาดว่างานบุญจะเสร็จในวันที่ 4 มี.ค.นี้ เพราะได้รับข้อมูลว่าผู้จัดงานทำหนังสือขออนุญาตใช้เสียงจากเทศบาลคลองหลวง และได้รับการอนุญาตให้ใช้เสียงได้ แน่นอนว่าเสียงดังกล่าว จะรบกวนการอ่านหนังสือสอบของนักศึกษาไปช่วงเวลานั้น พร้อมทั้งตั้งคำถามว่างานบวชลักษณะดังกล่าวจะได้บุญหรือบาปมากกว่ากัน
หลังการโพสต์ดังกล่าวผ่านไป 4 วัน ได้มีการตอบโต้จากฝั่งผู้จัดงานที่ไม่เห็นด้วย จนเกิดการปะทะกันทางความเห็นระหว่างผู้ไม่เห็นด้วย ต่อการใช้เสียงดังของงานบวชในช่วงที่มีการสอบของมหาวิทยาลัย ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น และผู้สนับสนุนงานบวชที่บางส่วนบอกว่านักศึกษาทำเกินกว่าเหตุ
เตรียมเข้าพบรอง อธิการ มธ.7 มี.ค.นี้
เพราะงานบวชเป็นบุญที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย น่าจะอนุโลมให้ได้ นำไปสู่การโจมตีกันอย่างดุเดือดของสองขั้วความเห็นที่ต่างกันในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ มีการข่มขู่ทำร้ายฝ่ายนักศึกษาและมีข่าวลือว่าพบคนพกอาวุธปืนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย จนเกิด #SaveChiangrak ขึ้นอันดับ 1 ของทวิตเตอร์ในเช้าวันนี้
นักศึกษาคนเดิม ยังบอกอีกว่าหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แจ้งความลงบันทึกประจำวันกับตำรวจ สน.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และวันพรุ่งนี้ (7 มี.ค.) จะเข้าพบ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อปรึกษารูปแบบของคดีและหาทางออกโดยการพูดคุยกับชาวบ้าน
มองว่าคำด่านั้นไม่ส่งผลกระทบอะไรกับเรากลับมองว่าเป็นความแตกต่าง ส่วนตัวไม่กังวลในแง่กฎหมาย แต่กลัวการประทุษร้าย
หาทางออกเปิดพื้นที่รับฟัง
ประเด็นที่น่าสนใจของเหตุการณ์ดังกล่าว “ไทยพีบีเอสออนไลน์” สังเกตว่ามีการนำความแตกต่างทางอัตลักษณ์ทางเพศของนักศึกษาเจ้าของโพสต์มาโจมตีด้วยถ้อยคำหยาบคาย ขณะเดียวกันก็เกิดการเหมารวมฝั่งผู้สนับสนุนงานบวชว่าเป็นกลุ่ม “เด็กแว้น” จนนำไปสู่ความรุนแรง ข่มขู่และคุกคาม
เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ถึง การถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ว่า นึกถึงกรณีของวัดสิงห์ ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูที่มาว่าทำไมงานบุญ งานบวชต้องให้เสียงดัง เพราะสมัยก่อนการสื่อสารไม่กว้างขวาง จึงใช้เสียงเพื่อบอกคนชุมชนว่ามีงาน ทำให้เพื่อนบ้านช่วยกันพาข้าวหม้อ แกงหม้อมาร่วมงาน แต่ปัจจุบันการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียกว้างขวางมากขึ้นทุกคนมีสื่อที่เข้าถึงได้ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ควรใช้ช่องทางนี้สื่อสารแทนเพื่อลดการส่งเสียงดังบอกคนในชุมชน อีกทั้งการขยายตัวของเมืองทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่สถาบันการศึกษา ศาสนาและชุมชนเกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกัน
เจษฎา แนะทางออกของเรื่องนี้ให้กับทั้ง 2 ฝ่ายว่า เมื่อเกิดการวิวาทกันในโลกโซเชียล ควรมีสติ ใช้ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ(Media Literacy) แม้อาจจะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ต่างฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงผ่านคำพูด อวัจนภาษา(ภาพ วิดีโอ สติ้กเกอร์) โจมตีกัน แต่ควรสื่อสารกันเพื่อหาทางออกมากกว่า
ควรเปิดพื้นที่รับฟังปัญหาร่วมกันของสถาบันการศึกษา ชุมชน และวัด เป็นการหาทางออกเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยไม่ละเมิดสิทธิพื้นฐานของกันและกัน เพราะต่างฝ่ายต้องการ เป็นที่ยอมรับเหมือนกัน คือการเป็นคนดี และตอบแทนพ่อแม่
แนะวิธีการรับมือที่เห็นต่างจากอคติทางเพศ
เมื่อสังเกตการใช้ภาษาและวิธีการสื่อสารของทั้ง 2 ฝ่าย จะเห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงจากอารมณ์ทำลาย และลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม เมื่อมีการโจมตีโดยใช้อคติทางเพศ ผู้ถูกกระทำสามารถดำเนินการทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 จากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ส่วนวิธีการรับมือด้วยตัวเองเบื้องต้นคือ
เมื่อเกิดความเห็นต่างให้ถอยตัวเองออกมา ตั้งสติ ทำความเข้าใจด้วยความเมตตาว่าทุกคนมีคความแตกต่าง ไม่มีใครเกิดมาแล้วเกลียดกะเทยตั้งแต่แรก คนที่มีอคติทางเพศเกลียดชังความต่างของการไม่ใช่ชายหญิง
สิ่งนี้มีที่มาจากการหล่อหลอมทางสังคมที่ต่างกัน เมื่อเกิดความขัดแย้ง การหยิบยกเรื่องความเกลียดชังทางเพศมาโจมตี จึงขุดมาจากมโนสำนึก ถ้าเรามีสติและเข้าใจอย่างเมตตาแล้ว เราจะไม่โกรธ แต่ถ้าไม่เข้าใจเราจะมองฝั่งตรงข้ามเป็นศัตรูและการสื่อสารเพื่อการแก้ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีผลกระทบทางเสียงจากงานบวชที่มัธยมวัดสิงห์ เขตบางขุนเทียน จนทำให้กลุ่มวัยรุ่นเข้าถล่มห้องสอบ PAT 5 และทำร้ายร่างกาย ครู นักเรียนจนต้องเลื่อนสอบมาที่สนามสอบโรงเรียนบางปะกอกเมื่อวานนี้ (5 มี.ค.)
ทิพากร ไชยประสิทธิ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่พอใจ! วัยรุ่นตะลุมบอนเด็กมัธยมวัดสิงห์กลางห้องสอบ GAT-PAT
ออกหมายจับ 20 ผู้ต้องหาบุกโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์