วันนี้ (30 เม.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. - 6 พ.ค.2562 หน่วยงานราชการและบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั่วประเทศ ยกเว้นภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ จะงดทำการ เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสเจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น เสด็จขึ้นครองราชย์ ในวันที่ 1 พ.ค.2562
ตามมาด้วยวันหยุดยาวประจำปีที่เรียกว่า Golden Week ทำให้ปี 2562 ถือเป็นปีแรกที่ชาวญี่ปุ่นจะได้ใช้วันหยุดยาวติดต่อกันนานถึง 10 วัน
บริษัทนำเที่ยว JTB ของญี่ปุ่น ประเมินว่า จะมีชาวญี่ปุ่นเลือกเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้มากถึง 24,670,000 คน หรือกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าจะไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมากกว่า 660,000 คน
แม้ว่าวันหยุดยาวจะเป็นสิ่งที่บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องดีและถือเป็นโชค แต่คนอีกจำนวนมากกลับไม่คิดเช่นนั้น หนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นชาวญี่ปุ่น พบว่าร้อยละ 45 ไม่ยินดีที่มีวันหยุดยาวแบบนี้ ขณะที่มีคนดีใจกับเรื่องนี้เพียงร้อยละ 35 เท่านั้น
เซย์ชู ซาโตะ พนักงานภาคการเงินชาวญี่ปุ่น ระบุว่า เขายอมรับว่าไม่รู้จะทำอะไรในช่วงวันหยุดยาว เพราะสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จะแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยว รวมทั้งต้องจ่ายเงินท่องเที่ยวราคาสูงขึ้น
แม้ว่าคนเกือบครึ่งประเทศจะไม่พอใจที่ได้รับวันหยุดยาว แต่ความนิยมของสถาบันพระมหากษัตริย์ของญี่ปุ่นยังมั่นคงไม่เสื่อมคลาย โดยสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ให้ความเคารพและรู้สึกดีกับสมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งความศรัทธาและความเทิดทูนนี้เพิ่มสูงทุกปี นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ขณะที่มีเพียงร้อยละ 22 ให้ความเห็นที่ต่างออกไป
ทาเคชิ ฮาระ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองของ Open University ของญี่ปุ่น ระบุว่า ตลอดระยะเวลาครองราชย์ 30 ปี สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพและผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่นักการเมืองมักละเลย ทำให้ทรงได้รับเสียงสนับสนุนจากพสกนิกร
นอกจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุนแล้ว ยังมีกลุ่มแนวคิดขวาจัดอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการขัดขวางและจัดการกลุ่มต่อต้านและผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สมเด็จพระจักรพรรดิอย่างรุนแรง เช่น ในปี 2533 นายกเทศมนตรีนางาซากิในขณะนั้น ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ หลังระบุว่าสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระราชบิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ มีส่วนรับผิดชอบในสงครามโลก ครั้งที่ 2
แม้จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลสำรวจยังคงพบว่า ชาวญี่ปุ่นยังให้ความเคารพศรัทธาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่ประเทศต่อไปอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ญี่ปุ่นประกาศชื่อปีรัชสมัย "เรวะ" เริ่มยุคใหม่ 1 พ.ค.นี้
"ญี่ปุ่น" ยกระดับความปลอดภัยก่อนพระราชพิธีสละราชสมบัติ