ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สูบกัญชาเสี่ยงโรคจิตเวชสูงร้อยละ 72.3

สังคม
6 พ.ค. 62
10:26
49,089
Logo Thai PBS
สูบกัญชาเสี่ยงโรคจิตเวชสูงร้อยละ 72.3
กรมการแพทย์ เปิดผลการศึกษาผู้ป่วยเสพติดกัญชาที่เข้ารับบริการรักษา จากสถานบำบัดรักษายาเสพติดของรัฐ 6 แห่ง พบเป็นโรคจิตเวชสูงถึงร้อยละ 72.3 รองลงมาโรคจิต อารมณ์แปรปรวน และวิตกกังวล

วันนี้(6 พ.ค.2562)นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยจัดกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยเป็นพืชที่มีสารเคมีเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่า 750 ชนิด สารสำคัญที่พบมากคือ THC และ CBD ซึ่ง THC เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและมีฤทธิ์เสพติด พบมากที่ช่อดอก

จากการศึกษาพบว่าในทางการแพทย์ยอมรับว่า THC เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการอยากยา ถอนยาและเสพติดมีรายงานพบว่าผู้เสพติดกัญชาเมื่อหยุดใช้จะเกิดอาการถอนยา เช่น อาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย

ทั้งนี้ยังมีการศึกษาถึงความเสี่ยงของการเสพกัญชากับโรคจิตเภท ซึ่งมีผลทำให้อาการทางจิต และการพยากรณ์โรคแย่ลง โดยเฉพาะคนที่มีกรรมพันธุ์ที่จะเป็นโรคจิต หรือเคยมีอาการทางจิตมาก่อนเมื่อใช้กัญชาจะทำให้เกิดอาการทางจิตได้มากขึ้น

จากข้อมูลผลการศึกษา พบว่า การใช้กัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ในการรักษาโรคภาวะของโรค อาทิ โรคลมชักที่รักษายาก อาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคปวดประสาทที่ดื้อต่อยารักษา

ดังนั้น การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์จึงต้องพิจารณาทั้งในด้านความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับซึ่งการนำกัญชามาใช้กับผู้ป่วยควรได้ประโยชน์หากมีความเสี่ยงต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

สูบกัญชาเสี่ยงโรคจิตเวชสูงร้อยละ 72.3


นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี( สบยช.) กล่าวว่า จากการศึกษาการเกิดโรคทางจิตเวชในผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเป็นยาเสพติดหลักที่เข้ารับการบำบัดรักษาในสถานบำบัดรักษายาเสพติดของรัฐ 6 แห่งทั่วประเทศ คือ สบยช. โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี จำนวน 1,170 คน

โดยเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง 7 ปี ระหว่างปี 2553-2559 พบว่า ผู้ป่วยเสพติดกัญชาส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 22 ปี โสด ไม่ประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ใช้กัญชาแห้งด้วยวิธีการสูบ

พบว่าผู้ป่วยเสพติดกัญชามีการเกิดโรคจิตเวชสูงถึงร้อยละ 72.3 รองลงมาคือ โรคจิต อารมณ์แปรปรวน และวิตกกังวล

ทั้งนี้ แนวคิดการใช้กัญชาทางการแพทย์ หรือใช้เพื่อเป็นยา ควรเป็นไปตามหลักฐานยืนยันทางวิชาการที่ชัดเจนมีคุณภาพและเชื่อถือได้ โทษและผลกระทบของการใช้ในทางที่ผิด ควรมีระบบ และแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของผู้ป่วยและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง