รศ.(พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-7 พ.ค.2562 พบผู้ป่วย 152,185 คน เสียชีวิต 10 คน ซึ่งจำนวนการระบาดถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 และ 2561 ประมาณ 3-5 เท่า โดยคาดการณ์ว่าในปีนั้นจะมีโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกระบาดมากขึ้น เมื่อคำนวณจากทั่วโลก จะพบว่ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 10 ใน 100 คน หรือร้อยละ 10 ส่วนเด็กจะป่วยอยู่ที่ร้อยละ 40 ซึ่งภาพรวมจะป่วยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 20 โดยไทยมีประชากร 70 ล้านคน ตัวเลขคนป่วยอาจจะถึง 1 ล้านคน
ช่วงนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนและเปิดเทอม เด็กมาอยู่รวมกันจำนวนมาก มีโอกาสแพร่ระบาดไปยังคนในครอบครัวได้
ภาพ : ทำความสะอาดพื้นที่รอบโรงเรียนป้องกันไข้หวัดใหญ่
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ระบุว่า คนมักเข้าใจว่าโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ร้ายแรง สามารถหายได้เอง แต่หากวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องรีบรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัว รวมทั้งป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ พร้อมแนะนำให้สังเกตอาการตนเองและคนรอบข้าง หากมีไข้สูงเกิน 24 ชั่วโมง ให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วยลงและการแพร่ระบาด
ภาพ : ทำความสะอาดพื้นที่รอบโรงเรียนป้องกันไข้หวัดใหญ่
ด้าน รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า โรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศ และมีหลากหลายสายพันธุ์ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เชื้อไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดได้ง่าย โดยแต่ละปีมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะในผู้ป่วย 7 กลุ่มเสี่ยง คือ หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป, เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน-3 ขวบ, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว, ผู้สูงอายุ, ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้, ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ป่วยโรคอ้วน
ภาพ : ทำความสะอาดพื้นที่รอบโรงเรียนป้องกันไข้หวัดใหญ่