ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤต! โลกร้อนกระทบทั่วโลกเผชิญปะการังฟอกขาว 3 ปีซ้อน

สิ่งแวดล้อม
24 พ.ค. 62
17:55
3,823
Logo Thai PBS
วิกฤต! โลกร้อนกระทบทั่วโลกเผชิญปะการังฟอกขาว 3 ปีซ้อน
นักวิทยาศาสตร์ ชี้ปีนี้ทั่วโลกเผชิญปัญหาปะการังฟอกขาวคิดเป็นร้อยละ 33 ของแนวปะการังทั่วโลก แนวโน้มจะรุนแรงและถี่มากขึ้น หลังการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น หากปะการังทั่วโลกสูญพันธุ์กระทบชีวิตมนุษย์และสัตว์ที่เหลืออยู่

วันนี้(24 พ.ค.2562) ในเวทีการเสวนาพิเศษ เรื่อง “ปะการังฟอกขาว วิกฤตโลกร้อน" ดร.ซี มาร์ค เอกินน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปะการัง ศูนย์วิจัยการประยุกต์ใช้ดาวเทียมในการสำรวจสถานภาพแนวปะการัง องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) กล่าวถึงสถานการณ์การเกิดปะการังฟอกขาวทั่วโลก ว่า ช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียแนวปะการังจากการเกิดฟอกขาวไปเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะช่วงปี 2558-2560 ที่เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวติดต่อกัน 3 ปี จนทำให้ปะการังฟอกขาวถึง 2 ใน 3 ของแนวปะการังทั้งหมดทั่วโลก

สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น แต่จากการฟอกขาวมีแนวปะการังตายมากถึง 1 ใน 3 ของแนวปะการังทั้งหมดของโลก ถือว่าเกิดรุนแรงมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น

เก็บข้อมูลพื้นที่เสี่ยงปะการังฟอกขาวทั่วโลก 

ทั้งนี้ จากเดิมที่คาดการณ์จะเกิดฟอกขาวรุนแรงในปี 2592 หรือประมาณอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งปีนี้มีแนวปะการังฟอกขาวไปแล้วร้อยละ 33 ของแนวปะการังทั่วโลก ทำให้นักวิจัยจากทั่วโลก โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ช่วยกันเก็บรวบรวมข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเล แนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากการฟอกขาว และพื้นที่ที่เป็น Hotspot ของการฟอกขาวของปะการังจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง ทำนาย และเตือนภัยการเกิดปะการังฟอกขาวทั่วโลก

ปะการังฟอกขาวมีแนวโน้มเกิดถี่ และรุนแรงมากขึ้น สิ่งสำคัญอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคระบาดในปะการัง มีผลทำให้ปะการังตายเพิ่มมากขึ้น และเกิดปะการังฟอกขาวถี่ขึ้นด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านปะการัง กล่าวว่า หากโลกสูญเสียแนวปะการังไปทั้งหมดจะสร้างผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์โลกที่เหลืออย่างมาก เนื่องจากแนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยและหลบภัยของสัตว์ทะเลทุกชนิดกว่า 1 ล้านสปีชีส์ และคนกว่า 500-1,000 ล้านคน อาศัยแนวปะการังทำมาหากินและใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆมากมาย ที่สำคัญแนวปะการังช่วยป้องกันคลื่น โดยเฉพาะสึนามิ ปกป้องแนวชายฝั่งกรณีมีคลื่นลูกใหญ่ให้ลดความรุนแรงลง

ทั้งนี้ ดร.ซี มาร์ค เอกินน์ มาบรรยายในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (IBD2019) จัดโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (IBD2019)

 

ภาพ https://www.coralreefimagebank.org/coral-bleaching

ภาพ https://www.coralreefimagebank.org/coral-bleaching

ภาพ https://www.coralreefimagebank.org/coral-bleaching

 

ทช.เผยสถานการณ์ปะการังฟอกขาวปี 62 เริ่มคลี่คลาย


นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า  สถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.นี้ ทางทช.ได้ทำการติดตามสถานการณ์ความรุนแรงของปะการังฟอกขาว ร่วมกับเครือข่าย และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัย และนักดำน้ำอาสาสมัคร จำนวน 123 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 51 และพื้นที่ฝั่งอาวไทย 72 พื้นที่

ขณะนี้พบว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในพื้นที่ส่วนใหญ่เริ่มคลี่คลายลงแล้ว เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง และปะการังส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเริ่มฟื้นตัว (ปะการังยังมีสีซีด) มีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้นที่ปะการังฟอกขาวยังอยู่ในระดับที่สูง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

สำหรับรายละเอียดฝั่งทะเลอันดามันปะการังส่วนใหญ่ยังคงมีสีซีดจางและกำลังฟื้นตัว ยกเว้นแนวปะการังชายฝั่งที่พบว่ามีปะการังฟอกขาวมากขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง พบปะการังฟอกขาวไม่เกินร้อยละ25 ของปะการังที่มีชีวิต เนื่องจากได้รับอิทธิพลของน้ำจืดจากปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลโดยเฉลี่ยลดลงจาก 31.29 องศาเซลเซียส ในเดือนเม.ย.นี้ ลดลงเป็น 30.3 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.ถึงวันที่ 12 พ.ค.นี้

ในขณะที่แนวปะการังส่วนใหญ่ฝั่งทะเลอ่าวไทย ยังมีการฟอกขาว แต่อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง พบปะการังฟอกขาวไม่เกินร้อยละ 25 ของปะการังที่มีชีวิต สรุปโดยรวมทั้งประเทศมีเพียง 6 พื้นที่ ประมาณ 5% ที่แนวปะการังยังมีการฟอกขาวอยู่ในระดับที่สูง อย่างไรก็ตาม ทช. ยังคงมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

นายจตุพร กล่าวว่า สภาวะที่ปะการังเกิดการฟอกขาวเป็นช่วงที่กำลังอ่อนแอลง ดังนั้น กรมฯ จึงขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องโปรดระมัดระวังเป็นพิเศษในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ บริเวณแนวปะการังที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบเพิ่มขึ้นกับปะการัง ได้แก่ งดการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล หลีกเลี่ยงการจับต้องหรือสัมผัสปะการัง หรือยืนบนปะการัง เป็นต้น อีกทั้ง ควรร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

วิกฤต! ทะเลอุ่น ปะการังแหล่งท่องเที่ยวภูเก็ตฟอกขาวร้อยละ 40

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง