ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาพในอดีต "เสาตะลุง" เพนียดคล้องช้าง

สังคม
29 พ.ค. 62
11:58
5,793
Logo Thai PBS
ภาพในอดีต "เสาตะลุง" เพนียดคล้องช้าง
กรมศิลปากร เปิดหลักฐานการบูรณะเพนียดคล้องช้างในอดีต ตั้งแต่สมัยรัชกาล 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 8 สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์อายุ 150 ปี ปรากฎภาพถ่ายยืนยัน "เสาตะลุง" ต้องเป็นเสาหัวมน

กรณีอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเพนียดคล้องช้าง หมู่ที่ 3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 

เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลังชาวบ้านร้องเรียน ว่า การบูรณะซ่อมแซมมีการตัดหัวเสาตะลุงที่อยู่ด้านนอกเพนียด หรือที่เรียกว่า ปีกกาออกทั้งหมด ทำให้เพนียดคล้องช้างเปลี่ยนไปดูไม่สวยงามเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงการใช้งบประมาณในการบูรณะกว่า 30 ล้านบาท

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้อธิบายผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า 

พ.ศ.2410-2440 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏภาพถ่ายเก่าโดยชาวไทยและชาวต่างชาติหลายชุด ที่เข้ามาถ่ายภาพในพื้นที่เพนียด 

ปรากฏหลักฐานหัวเสาด้านในเชิงเทินเพนียดเป็นเสาหัวมนใต้ส่วนที่มนมีการเซาะร่อง 2 ร่อง ส่วนเสาด้านนอกเชิงเทินเป็นหัวเสาตัดตรง

 

พ.ศ.2441 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบูรณะเพนียด โดยรัชกาลที่ 5 เสด็จมาทอดพระเนตรการบูรณะ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.และในช่วงวันที่ 9-12 ก.พ. ทรงโปรดให้มีพิธีคล้องช้าง รูปแบบหัวเสา

จากภาพถ่ายเก่ายังเป็นรูปแบบหัวเสาด้านในเชิงเทินเป็นเสาหัวมน ด้านนอกเชิงเทินเป็นหัวเสาตัดตรง เหมือนก่อนการบูรณะ

 

 

พ.ศ.2500 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดให้ซ่อมเพนียด

ปรากฏภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2505 รูปแบบหัวเสาในครั้งนี้ถูกเปลี่ยนไป โดยรูปแบบเสาทั้งด้านในและนอกเชิงเทินเป็นเสาหัวมน ที่ใต้ส่วนที่มนมีการเซาะร่องเพียงร่องเดียว คาดว่าเป็นการบูรณะโดยการเปลี่ยนเสาใหม่ทั้งหมด

 

พ.ศ.2530-2531 และ พ.ศ.2550-2551 มีการบูรณะเพนียด รูปแบบหัวเสายังคงยึดตามแบบการบูรณะในปี พ.ศ.2500

 

และในปี พ.ศ. 2561-2562 กรมศิลปากรได้บูรณะเพนียดอีกครั้งตามรูปแบบดั้งเดิมตามหลักฐานจากภาพถ่ายเก่าในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5

 

"เสาตะลุง"

"เพนียด" เป็นคำเรียก กรงต่อนกเขา เป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว  สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการคล้องช้างป่า นำมาใช้ประโยชน์ในราชการทั้งในเวลาปกติและในสงคราม แต่บางครั้งพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้ทำพิธีคล้องช้างป่าให้แขกเมืองชมด้วยเช่นกัน

บริเวณของกลุ่มเพนียดคล้องช้าง จะมีกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญคือเพนียดคล้องช้าง ตำหนักเพนียด และเตาเผาบ้านเพนียด ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ศาสตราจารย์สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ เล่าไว้ในหนังสือเรื่องช้างไทยว่า "เพนียด" ทำด้วยซุงต้นใหญ่ ๆ เรียกว่า "เสาตะลุง" ปักห่างกันประมาณ 1 คืบ เรียงรายไปโดยรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

การคล้องช้างจะมีช้างพังเป็นช้างต่อล่อให้ช้างป่าติดตามเข้าไปในเพนียดใหญ่ ต่อมาใช้ช้างพลายเข้าขนาบ 2 ข้าง บังคับให้ช้างป่าเข้าซองไปในเพนียดเล็ก หมอช้างจะใช้เชือกคล้องเท้าหลังของช้าง แล้วควาญช้างจะช่วยกันดึงเชือกนั้นจนกระทั่งช้างป่าออกมาพ้นเพนียด

 

 

"เสาตะลุง" คือ ไม้ท่อนกลม หัวเสากลึงเป็นรูปหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ปักเป็นหลักคู่หนึ่ง สำหรับล่ามช้างหรือผูกช้างเครื่องยืนแท่น

ในอดีตเพนียดตั้งอยู่ที่วัดซอง ด้านทิศเหนือของพระราชวังจันทรเกษม ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ.2123 โปรดให้ขยายกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกไปถึงริมแม่น้ำ และใหย้ายเพนียดไปตั้งที่ ต.ทะเลหญ้า หรือ ต.สวนพริก ในปัจจุบัน

ครั้นหลังเสียกรุงศรีอยุธยาปี พ.ศ.2310 เพนียดถูกทิ้งร้างไป จนกระทั้งสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์จึงโปรดฯให้บูรณะเรื่อยมา เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 9 และสมัยรัชกาลปัจจุบัน

 

 

ในสมัยอยุธยา "ช้าง" ถือว่าเป็นสัตว์มงคลที่มีความสำคัญสูงมาก เป็นทั้งพาหนะของชนชั้นสูงสำหรับพระราชดำเนินทางสถลมาตร และพาหนะใช้ในการรบกับข้าศึก และถ้าเป็น "ช้างเผือก" ถือว่าเป็นสิ่งมง คลคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

พระเจ้าแผ่นดินสมัยอยุธยา จึงเสด็จมาทอดพระเนตรการคล้องช้างเสมอ ดังนั้นจึงมีขั้นตอนการคล้องช้าง และเป็นพระราชพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดต่อมา นอกจากนั้นการคล้องช้าง ยังถือว่าเป็นมหรสพอย่างหนึ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงทอดพระเนตรเพื่อความสำราญพระราชหฤทัยด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อฟ้อง "กรมศิลป์" ตัดหัวเสาตะลุงเพนียดช้างอยุธยา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง