กรณีพบลูกพะยูน เพศเมีย อายุประมาณ 1 ปี พลัดหลงจากแม่ และว่ายน้ำตามเรือเข้าเขตจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา สัตวแพทย์นำตัวมาดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพแบบธรรมชาติอย่างน้อย 6 เดือน บริเวณแหลมจุโหย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง
วันนี้ (4 มิ.ย.2562) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดเฝ้าระวังและอนุบาลลูกพะยูนเกยตื้นชั่วคราว โดยน.ส.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ สังกัดศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต หัวหน้าทีมสัตวแพทย์ที่เฝ้าดูแลลูกพะยูนตัวดังกล่าว รายงานว่าขณะนี้เจ้ามาเรียม มีสุขภาพแข็งแรงดี ความสม บูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับที่ผอม โดยทีมสัตวแพทย์ได้ให้นม และสารอาหารที่ทดแทนอย่างเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเจ้ามาเรียม

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
ส่วนอาการอื่นๆ ยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์ ยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังและดูแลในเรื่องของโภชนาการหลักอย่างใกล้ชิด โดยมาเรียม สามารถตอบสนองการกินนม และหญ้าทะเลได้เป็นอย่างดี
ทีมสัตวแพทย์จะให้นมเฉลี่ย 1-2 ลิตรต่อวัน โดยจะยังให้ไปเรื่อยๆ ตามความต้องการในแต่ละวัน เปรียบเสมือนการเลี้ยงดูแบบธรรมชาติ ที่ลูกพะยูนจะต้องกินนมแม่ได้ทั้งวัน พร้อมให้วิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญ
พาว่ายน้ำเหมือนเด็ก-ลดอาการเครียด
นอกจากนี้ทีมสัตวแพทย์ได้พาเจ้ามาเรียมว่ายน้ำ เพื่อให้ลำไส้มีการขยับตัว ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อเหมือนเด็กทารก ที่สำคัญเป็นการออกกำลังกาย และลดความเครียดให้กับเจ้ามาเรียมได้เช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าประมาณ 6 เดือน ถ้าเจ้ามาเรียม มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สามารถหาอาหารกินเองได้ตามธรรมชาติ ทางทชก็จะปล่อยเจ้ามาเรียมกลับคืนสู่ท้องทะเลต่อไป
สำหรับชื่อของลูกพะยูนเพศเมียตัวดังกล่าวนี้มีชื่อว่า "มาเรียม" ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามที่ชาวบ้านเกาะลิบง ช่วยกันตั้งชื่อนี้มีความหมายว่า "ผู้หญิงที่มีจิตใจงดงาม" เปรียบเสมือนความรัก ความหวงแหน และความผูกพันที่ชาวบ้านเกาะลิบงมีต่อพะยูนซึ่งเป็นสัตว์สงวนประจำท้องถิ่นของจังหวัดตรัง
ถือเป็นต้นแบบการทำงานร่วมกันในการดูแลพะยูน ที่เหลืออยู่ประมาณ 200 กว่าตัวในท้องทะเลไทย ขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เข้ามาดูแล ประชาชนและจิตอาสาจากชุมชนเกาะลิบง จ.ตรัง ที่ช่วยอนุบาลเจ้ามาเรียม

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
แนะจัดระเบียบการท่องเที่ยวลดผลกระทบพะยูน
นายจตุพร กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ กิจกรรมทางทะเลการสัญจรทางเรือ และเครื่องมือประมง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อพะยูนได้ เช่น หากมันว่ายน้ำออกไปนอกแนวเขต ก็อาจถูกเรือชน หรือถูกใบพัดเรือ รวมทั้งอาจไปติดเครื่องมือประมงบางชนิด หรือว่ายน้ำเผลอเข้าไปเกยตื้น ดังนั้น จึงย้ำให้ทุกคนปฏิบัติตามกติกาที่พึงมีอย่างเคร่งครัด
ดังนี้ ห้ามลงน้ำ ดำน้ำกับพะยูน ห้ามขับเรือไล่ ต้องดับเครื่องเมื่อเข้าใกล้ เมื่อพะยูนแสดงให้เห็นว่าถูกรบกวนพฤติกรรม ต้องยุติกิจกรรมทั้งปวง นอกจากนี้เรือทุกลำต้องลงทะเบียน เพื่อให้จัดการดูแลได้ รวมทั้งควรมีคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดกติกา จำนวนเรือในพื้นที่
ทั้งนี้เสนอว่าควรต้องมีการศึกษาเรื่องการท่องเที่ยวชมพะยูนอย่างเร่งด่วน ไม่ทิ้งขยะลงในท้องทะเล เพราะขยะพลาสติกเหล่านี้อาจจะสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสัตว์ทะเลหายาก ระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเล หรือทำลายทัศนียภาพอันงดงามของเกาะลิบง
สำหรับพะยูนเป็นสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม มันว่ายนํ้าด้วยความเร็วที่ 1.8-2.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือเป็นความเร็วที่ช้ามากหากเปรียบเทียบกับสัตว์ทะเลประเภทอื่นๆ
ตัวแรก เลี้ยงพะยูนโดยคนในท้องทะเล
ก่อนหน้านี้มีการเปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมในการช่วยดูแลเจ้ามาเรียม ล่าสุดเฟซบุ๊ก ThaiWhales รายงานว่า กิจวัตรประจำวันในการดูแลลูกพะยูนน้อยพลัดหลงกับแม่ เจ้า Mariam โดยทีมนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ทช. นำโดย Kongkiat Kittiwatanawong และทีมสัตวแพทย์ทช.ทำการป้อนนมและหญ้าทะเลให้เจ้ามาเรียม กินอิ่มก็พาว่ายน้ำออกกำลังกายไม่ให้ท้องอืด (อารมณ์เหมือนเบบี๋กินนมอิ่มก็ต้องอุ้มพาดบ่าให้เรอ ) ออกกำลังเสร็จก็ให้น้องพักผ่อนตามอัธยาศัย มีการชั่งน้ำหนักวัดสัดส่วน ตรวจสุขภาพน้องมาเรียม เพื่อดูพัฒนาการที่แข็งแรง
น้องโตขึ้นนิดนึงแล้ว ดีใจ เริ่มวันตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเย็น สองสามวันก่อนเป็นวันน้ำใหญ่ การเปลี่ยนแปลงของน้ำขึ้นน้ำลงสูง น้ำลงเยอะตอนตี 4 ทั้งหมอและทีมเราก็ต้องไปเฝ้าระวังกันตอนกลางคืน เพื่อดูแลไม่ให้มาเรียมมาเกยตื้น
การดูแลลูกพะยูนในที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเค้าเองแบบนี้มีไม่บ่อยนัก จากความรู้ของพวกเรา (ThaiWhales) เราคิดว่าครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ผ่านมามีการอนุบาลลูกพะยูนแต่อยู่ในสถานที่ดูแลเช่นในบ่ออนุบาล

ภาพ:เฟซบุ๊ก ThaiWhales
ภาพ:เฟซบุ๊ก ThaiWhales
การดูแลลูกพะยูนเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้ความเชี่ยวชาญมาก ยิ่งในเคสนี้ทีมงานทำงานกันหนักมาก ทั้งทีมวิจัย ทช. ทีมสัตวแพทย์ ทช. เจ้าหน้าที่อุทยาน ชาวบ้านชาวลิบง อาสาสมัครในพื้นที่ และอาสาสมัครจากการรับสมัคร โดยมีมาเรียมเป็นศูนย์รวมจิตใจ แต่อย่างไรก็ตาม คนที่เข้าใกล้สัมผัสมาเรียม จะอยู่ในการจำกัดคนแค่ 3-4 คนที่เป็นผู้เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เจ้ามาเรียมไม่ติดคนและสามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติและวิถีสัตว์ป่าดูแลตัวเองในที่อยู่ตามธรรมชาติของเค้าให้ดีที่สุด
ThaiWhales ลงพื้นที่มาเป็นอาสาสมัครชุดแรก เพื่อมาเตรียมความพร้อมต่างๆให้ทีมอาสาสมัครที่จะทยอยมาช่วยทีมนักวิจัยและหมอๆ เป็นเวลา 9 วันที่อิ่มเอมใจมาก เหมือนได้เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน น่ารัก

ภาพ:เฟซบุ๊ก ThaiWhales
ภาพ:เฟซบุ๊ก ThaiWhales
เมื่อวานมีอาสาสมัครทางบ้านมาคนนึงแล้ว ชุดพร้อม กายพร้อม ใจพร้อมมาก ฝากอาสาสมัครทุกคนดูแลตัวเอง และช่วยดูแลทีมแพทย์สาวๆและน้องมาเรียมของคนไทยทุกคนด้วยนะคะ
เรายังไม่รู้ว่าการดูแลเจ้าหนูมาเรียมจะมีไปอีกนานแค่ไหน แต่เรารู้ว่าทุกๆคนช่วยกันอย่างเต็มที่ และทุกๆคนก็อยากมีส่วนช่วยดูแลสิ่งสวยงามในธรรมชาติน้อยๆน่ารักตัวนี้ ทางทช.และทีม ThaiWhales เองก็จะพยายามจะติดตามการพัฒนาความก้าวหน้าในการดูแลในเคสนี้และมีอะไรจะมาแจ้งให้รับรู้กันเรื่อยๆนะคะ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครั้งแรก ! ป้อนนม-สอนว่ายน้ำ "มาเรียม" ลูกพะยูนหลงแม่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: