วันนี้ (19 มิ.ย.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง หลังจาก "มาเรียม" ลูกพะยูนเกยตื้นหน้าเขาบาตู ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เนื่องจากเป็นช่วงน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุด ล่าสุดเมื่อเวลา 04.30 น. เจ้าหน้าที่เกาะลิบง ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าเฝ้าประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง ได้ช่วยนำพะยูนน้อยมาเรียมไปปล่อยบริเวณน้ำลึก หลังพบนอนเกยตื้น
โดยตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังเจอมาเรียมเกยตื้น มีการปรับแผนดูแลมาเรียม ซึ่งปกติทีมงานจะดูแลมาเรียมป้อนนม พาว่ายน้ำ และฝึกการใช้ชีวิตตั้งแต่เช้า จนถึงช่วงเย็นจะพาเรือแม่ส้มนำมาเรียมออกไปร่องน้ำลึก 1 กิโลเมตร ห่างจากฝั่งและปล่อยให้อยู่กับธรรมชาติ
ช่วง 2 วันพอน้ำเริ่มขึ้น พบว่ามาเรียมว่ายตามน้ำขึ้นมาจนถึงหน้าเขาบาตูที่เขานอนเป็นประจำ เป็นจุดเดิมที่นอนเกยตื้น แสดงว่าเขาเรียนรู้ว่าต้องกลับมาที่เดิมทุกวัน เพราะระยะห่าง 1 กิโลมตรแต่มานอนจุดเดิม แต่ปัญหายังลงตามน้ำยังไม่เป็น

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นายชัยพฤกษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เป็นช่วงมรสุม ในหนึ่งเดือนจะมีลักษณะที่น้ำขึ้นน้ำลงประมาณ 14 วันและหากมีมรสุมแรงเราจะให้นมลำบาก ขณะนี้มีการประสานกับทางสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ จะหาบ่อชั่วคราวมาเตรียมไว้รองรับกรณีฉุกเฉิน แม้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือให้มาเรียมสัมผัสกับธรรมชาติ เรียนรู้ กลางวันกลางคืน โดยมีทีมเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลในเวลาวิกฤติ
ช่วงเช้าประสานกับนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์กรมอุทยาน จะส่งบ่ออนุบาลของกรมอุทยาน มาให้ภายในปลายสัปดาห์นี้ ส่วนบ่อที่จะทำในชายฝั่งตามแนวคิดของต้องร่วมฟังความเห็นจากหลายฝ่าย และผสานภูมิปัญญาชาวบ้าน
ขณะเดียวกันวันนี้เจ้าหน้าที่เขตฯ ลิบง ร่วมกันวางทุ่นแสดงแนวเขต Safety Zone ป้องกันและห้ามเรือทุกชนิดเข้ามาในบริเวณแนวทุ่น รวมทั้งช่วยกันทำสะพานบริเวณที่ให้นมมาเรียมตอนน้ำขึ้นสูงสุด และช่วยกันทำตาข่ายเพื่อป้องกันแมงกะพรุนไฟและแมงกะพรุนกล่อง
เปิดระดมทุนค่าใช้จ่ายมาเรียม
ส่วนกรณีที่มีการเปิดเพจขอรับบริจาคค่าใช้จ่ายในการดูแลของมาเรียม ผ่านทางกองทุนช่วยชีวิตสัตว์น้ำ จุฬาฯ นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องแต่ในส่วนของกรมอุทยาน ใช้งบปกติจากเกาะลิบง ซึ่งอธิบดีกรมอุทยาน กำชับให้ดูแลอย่างเต็มที่ ส่วนงบเรื่องนมของมาเรียม และค่าใช้จ่ายของอาสาสมัคร เข้าใจว่าบางส่วนมาจากเงินส่วนตัวของผู้มาทำงาน และของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝัง (ทช.)
โดยจากการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กของ Nantarika Chansue สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ได้โพสต์เปิดระดมทุน โดยระบุว่าเพราะน้องมาเรียมไม่มีแม่ ว้าเหว่ เหงา สับสน และขาดประสบการณ์... พวกเราทุกคนร่วมกันทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และแรงสมอง ที่จะช่วยให้นางมีโอกาสเติบโตออกไปสู่ธรรมชาติ... มีลูกหลานต่อไป

ตอนนี้เสบียงอันน้อยนิดเพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนของเราร่อยหรอลง ถึงเวลาที่จะต้องขอกาสนับสนุน จากพี่น้องแล้วค่ะ ขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ ในนามของทีมท่ีประกอบด้วยชาว ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ กรม ทช กรม อส และ ชาวเกาะลิบง และอาสาสมัครทั้งหลาย แจ้งว่าเรามีค่าใช้จ่ายแต่ละวัน คร่าวๆคือ ค่านม (เดือนนี้มีสปอนเซอร์) วิตามิน ยา ถุงมือ อุปกรณ์ทำหัวนม ค่าน้ำจืดใช้และน้ำกิน (เดือนหน้าอาจได้น้ำกินจากกรมน้ำ) ค่าไฟฟ้า... ค่าอาหาร (ออกเอง) ค่าที่พัก ค่ารถบนเกาะ ค่าเรือ และอื่นๆ ตกประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท ไม่นับค่าเดินทางจากภูเก็ตและ กทม และค่าก่อสร้างบ่อป้องกันการเกยตื้นและมรสุม

ภาพ:เฟซบุ๊ก kongkiat kittiwatanawong
ภาพ:เฟซบุ๊ก kongkiat kittiwatanawong
เปิดโมเดลข่ายกันแมงกะพรุน
ล่าสุดเฟซบุ๊กของ Kongkiat Kittiwatanawong ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ได้เผยภาพการทำเขตป้องกันแมงกะพรุนขึ้น โดยระบุว่าการใช้อวนป้องกันแมงกระพรุน ใช้เฉพาะช่วงให้นม โดยมีพี่เลี้ยงกำกับอยู่และกรณีที่พบแมงกระพรุน มีประโยชน์เพื่อป้องกันผู้ดูแล ขณะเดียวกันก็อาจเกิดอันตรายกับมาเรียมได้ แต่ถ้าคิดอีกแง่นึงก็เป็นโอกาสสอนมาเรียมให้รู้จักอันตราย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"มาเรียม" ตำราเล่มใหม่ "คนเลี้ยงพะยูน"
อาสาดูแล "มาเรียม" ถูกพิษแมงกะพรุนกล่อง ล่าสุดปลอดภัยแล้ว