ข่าวดี! พบร่องรอย “นกแต้วแล้วท้องดำ”เขาประ-บางคราม

สิ่งแวดล้อม
1 ก.ค. 62
22:29
2,839
Logo Thai PBS
ข่าวดี! พบร่องรอย “นกแต้วแล้วท้องดำ”เขาประ-บางคราม
กรมอุทยานฯ เผยข่าวดี เจอเสียงร้อง “นกแต้วแล้วท้องดำ” ป่าราบต่ำเขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ มีความหวังยังไม่สูญพันธุ์จากป่าเมืองไทย เตรียมสำรวจหารังเพิ่มเติม

วันนี้ (1 ก.ค.2562) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืช กล่าวว่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูประชากรและพื้นที่ถิ่นอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำ และระหว่างวันที่ 19 เม.ย –3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจประชากรนกแต้วแล้วท้องดำ ในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ โดยวางแผนการสำรวจออกเป็น 4 ช่วง 

โดยคณะผู้สำรวจประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ประจำโครงการฯ นกแต้วแล้วท้องดำ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า รวม 32 คน

 

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืช

 

โดยแต่ละช่วงสำรวจมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมดำเนินงานช่วงละประมาณ 10–12 คน โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่สำรวจในบริเวณพื้นที่อาศัยหลักของนกแต้วแล้วท้องดำ คือบริเวณพื้นที่อาศัยสระมรกต พื้นที่หย่อมป่าหินคอกวาง และใช้วิธีการเดินสำรวจโดยใช้เส้นสำรวจถาวรเป็นแนวเส้น baseline จำนวน 42 เส้น และเดินสำรวจตามแนวซ้าย-ขวาของเส้นให้กระจายทั่วพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดเทปเสียง (Radio playback) เพื่อฟังการตอบสนองต่อเสียงเทปของนกแต้วแล้วท้องดำ

จากการสำรวจในพื้นที่ถิ่นอาศัยหลักของนกแต้วแล้วท้องดำทั้ง 2 โซนพบการตอบสนองของนกแต้วแล้วท้องดำ  2 จุด เป็นนกตัวเมีย 1 จุด และไม่ทราบเพศ 1 จุด

นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบนกในกลุ่มของนกแต้วแล้วอีก 3 ชนิด คือ นกแต้วแล้วลาย ที่เป็นนกประจำถิ่น และนกแต้วแล้วธรรมดา นกแต้วแล้วอกเขียว ทั้งนี้ยังพบว่าในพื้นที่สำรวจมีความหลากหลายของนกที่พบในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำในพื้นที่ภาคใต้ เช่น นกเงือกหัวหงอก กินแมลงหัวแดงใหญ่ ขมิ้นหัวดำเล็ก

 

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืช

 

อีกทั้งในการเดินสำรวจในพื้นที่ได้มีการประเมินสถานภาพของพื้นที่ถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของนกแต้วแล้วท้องดำร่วมด้วยพบว่าพื้นที่หย่อมป่าในบริเวณป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ยังมีสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำ

นายธัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป เจ้าหน้าที่ประจำโครงการนกแต้วแล้วท้องดำ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า 3 คนปฏิบัติงานประจำในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง 1 คนทำการสำรวจหารังนกแต้วแล้วท้องดำ เน้นในพื้นที่ที่สำรวจพบเสียงนกแต้วแล้วท้องดำ และตามบริเวณที่มีสภาพเป็นร่องห้วยในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ 

เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ดำเนินงานด้านงานส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชนรอบแนวเขต และในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ ด้านการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำ และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม ดำเนินงานด้านงานป้องกันดูแลพื้นที่ถิ่นอาศัยหลักของนกแต้วแล้วท้องดำ

ทั้งนี้ นกแต้วแล้วท้องดำ หรือนกแต้วแร้วท้องดำ เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 19 ชนิดของไทยและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

 

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืช

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง