แย่งกระทรวงพลังงานเพื่อใคร?

เศรษฐกิจ
4 ก.ค. 62
16:38
1,586
Logo Thai PBS
แย่งกระทรวงพลังงานเพื่อใคร?
ภาพของการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังสร้างความแตกร้าวในพรรคพลังประชารัฐอย่างเห็นได้ชัดเจน แม้กระทรวงพลังงานไม่ใช่กระทรวงที่มีงบประมาณมากมาย แต่เหตุใดเก้าอี้ตำแหน่งนี้กลับเป็นที่หมายปองของหลายคน

อะไรเป็นตัวชี้วัดว่ากระทรวงไหนจะมีคนจอง...

อย่างแรกคงพิจารณาว่าได้รับจัดสรรงบประมาณมากน้อยแค่ไหน อย่างที่สอง คืออำนาจในการพิจารณาโครงการ ที่จะเอื้อต่อส่วนใดได้บ้าง

มาดูงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 สามล้านล้านบาท มหาดไทย กลาโหม เกษตร คมนาคม จัดอยู่ในกระทรวงเกรดเอ กวาดไปกระทรวงละหลายแสนล้าน ก่อนหน้านี้ชื่อของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ถูกเสนอสลับกันไปมา ว่าจะนั่งเจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน

เทียบกันอุตสาหกรรมได้งบ 5,063 ล้านบาท มากกว่าพลังงานตั้งเท่าตัว เพราะได้เพียง 2,318 ล้านบาท ยิ่งเทียบทุกกระทรวง กระทรวงพลังงานได้งบน้อยที่สุด แต่ตอนนี้กลับเนื้อหอมมากที่สุด

 

ถ้าตัดเรื่องงบประมาณออกไป เหลือเหตุผลที่สองที่ช่วงชิงเป็นรัฐมนตรีพลังงาน คือ อำนาจในการจัดสรรพิจารณาโครงการ แม้กระทรวงอุตสาหกรรมมีโรงงานที่ต้องกำกับดูแลหลายพันราย แต่ไม่เหมือนกับกระทรวงพลังงานที่ได้กำกับรัฐวิสาหกิจใหญ่สองแห่งพร้อมกับบริษัทในเครือ คือ ปตท.และ กฟผ.

ปตท.เฉพาะบริษัทแม่ มาร์เก็ตแคปในตลาดหลักทรัพย์ 1.3 ล้านล้านบาท ส่วน กฟผ. ขายไฟขายบริการ ได้ปีละ 5 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรเกือบ 5 หมื่นล้านบาท สองรัฐวิสาหกิจนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของทุกรัฐบาล


ส่วนจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่ ตามแผนพีดีพี หรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ที่ต้องลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 10 โรง 8,300 เมกะวัตต์ ทั้งสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงเก่าที่ปลดระวาง ทั้งใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน แม้ตอนนี้คัดเลือกไปแล้ว 2 โรงในภาคตะวันตก แต่ก็ยังเหลือ 8 โรงมูลค่าการลงทุนหลายแสนล้านบาท ที่รอรัฐมนตรีคนใหม่ 

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานจะมีบทบาทตัดสินใจจะจัดสรรให้ใคร ในฐานะประธานคณะกรรมการไม่ไม่นับใบอนุญาตโรงไฟฟ้าประเภทอื่น และการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ในระยะแรกเน้นเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ภาคประชาชน ที่กำหนดไว้ 1,000 เมกะวัตต์

ยังมีเรื่องต้องขับเคลื่อน กรณีก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ที่เดิม ปตท.นำเข้ารายเดียว ก่อนส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ที่ปลดล็อคให้ กฟผ.นำเข้ามาเองได้ 1.5 ล้านตัน แต่ผ่านไป 2 ปี ยังนำเข้าไม่ได้ เพราะต้องจัดสรรให้ดี กลัวนำเข้าชนกับ ปตท.ที่มีแผนปีหน้า 5.2 ล้านตัน รวมถึง การผลักดัน การค้าก๊าซแอลเอ็นจี ให้ไทยเป็น ศูนย์กลางซื้อขาย หรือ ฮับ แอลเอ็นจี จากที่ซื้อมาใช้อย่างเดียว ขยายเป็น ซื้อแล้วส่งขายได้ด้วย เป็นแผนงานอีกเรื่องที่รัฐมนตรีใหม่จะมีโอกาสได้ตัดสินใจ

อำนาจยังมีอีก...แม้แหล่งบงกช-เอราวัณ ได้ข้อยุติประมูลผู้รับสิทธิ์ไปแล้ว ลำดับต่อไป แผนเตรียมเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ยังต้องมีการตัดสินใจ ก่อนหน้านี้ได้ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปศึกษาแนวทางการเปิดประมูลไปแล้ว เพื่อลดการพึ่งพาแอลเอ็นจีนำเข้า เลยไม่รู้ว่าคนที่กำลังช่วงชิงเก้าอี้พลังงาน จะคิดแบบนี้เหมือนกันรึเปล่า งบไม่มาก แต่ภาระหน้าที่มีมาก

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรมตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ เป็นยุคเปลี่ยนผ่านแปรรูป การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็น บริษัทมหาชน และเคยเป็นรัฐมนตรีคมนาคม ที่ตอนนั้นเผชิญปัญหาเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ ส่วนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เพิ่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. เป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ก่อนขยับเป็นรัฐมนตรีว่าการ

ทุกกระทรวงมีความสำคัญ ผลักดันขับเคลื่อนประเทศไปได้ ถ้านักการเมือง และ ส.ส.แย่งทำหน้าที่เพื่อเห็นแก่ประเทศเป็นเรื่องน่ายินดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง