จับไต๋ แชร์ลูกโซ่ออนไลน์

อาชญากรรม
15 ก.ค. 62
15:04
6,684
Logo Thai PBS
จับไต๋ แชร์ลูกโซ่ออนไลน์
แชร์ลูกโซ่ยังเป็นอมตะ และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับการสื่อสารชักชวนผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้การหลอกลวงขยายวงกว้างและรวดเร็ว เหตุใดแชร์ลูกโซ่ไม่หมดไป และรูปแบบต่างจากอดีตมากน้อยเพียงใด

ปราบปรามกันตลอดเวลา แต่สำนักงานตำรวจยังบอกว่า แชร์ลูกโซ่ที่กำลังขยับมาอยู่ในออนไลน์ ชุกชุมยิ่งกว่าคดีลักขโมยเสียอีก เสียหายมาก สูญเงินก็มาก แต่ยังมีแบบใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา

เร็วๆ นี้ เหยื่อแชร์ฟอเร็กซ์ยี่ห้อหนึ่ง ร้องดีเอสไอให้รับคดีพิเศษ หลังถูกหลอกร่วมลงทุนเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงิน นำภาพถ่ายภายในงานมันนี่เอ็กซ์โป ไปสร้างความน่าเชื่อถือหลอกลวงในโซเชียลมีเดีย มีการนำภาพดาราฮ่องกงมาตัดต่อใส่โลโก้บริษัทเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ ผู้ร่วมลงทุน ทำให้มีผู้หลงเชื่อร่วมลงทุนมากกว่า 2,400 คน

 

ในรายที่ไปยื่นร้อง มีการยกตัวอย่างว่า ถูกชักชวนลงทุนขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,850 บาท จะได้เงินปันผล 40 บาทต่อวัน หากลงทุน 150,000 บาท จะได้ปันผล 1,200 บาทต่อวัน โดยไม่จำกัดวงเงินสูงสุด และพบว่ามีผู้หลงเชื่อร่วมลงทุนสูงสุด 10 ล้านบาท

 

การจ่ายผลตอบแทนเป็นการรับประกันว่าจะได้ 4 เท่า ที่เน้นไม่ใช่แค่การหารายได้จากเงินตัวเอง แต่เน้นสร้างทีม มีค่าแนะนำหรือชักชวนสมาชิกใหม่ 10% ของยอดลงทุน หากรายใดสามารถชักชวนสมาชิกใหม่ได้ตามเป้าที่กำหนด จะได้เงินปันผลเพิ่มขึ้นอีก 6%

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย อธิบายว่าที่ต้องแจกแจงผลตอบแทนอย่างละเอียด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่ไม่มีความเข้าใจการเงิน ผู้สูงวัย หรือคนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ง่ายต่อการตัดสินใจ

 

จะขออธิบายขบวนการแชร์ลูกโซ่แบบนี้...มิจฉาชีพส่วนใหญ่จะมีฐานในต่างประเทศ แล้วกระจายฐานไปในหลายประเทศ อ้างว่าเงินระดมทุนจะลงทุนกองทุนต่างประเทศ ฟอเรกซ์ หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรืออาจเป็นเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ ว่าสามารถทำกำไรได้ อาจใช้โรบอทเป็นผู้เทรด ทำให้ได้ผลตอบแทนตลอดเวลา

แต่ละประเทศจะมีผู้ชักชวนกลุ่มแรกๆ โหมโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ เน้นการทำเป็นเครือข่ายต่อๆ กัน ช่วงแรกให้ผลตอบแทนดี เพราะมีเงินจากคนสมัครต่อๆ กันมาจ่ายให้ ในลักษณะเงินต่อเงิน

แต่สักพักพอเริ่มไว้ใจ จะติดขัดมีปัญหาเบิกถอนไม่ได้ คนลงทุนลำดับต้น จะได้ผลตอบแทนไปแล้ว แต่คนเสียหายมากส่วนใหญ่คือคนมาต่อท้าย ที่ไม่ได้อะไรเลย

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า เงินที่ลงทุนเมื่อโอนปั๊บก็ถูกโอนไปต่างประเทศ พอปิดตัวหนีไป ผู้เสียหายอยู่ในไทยเอาอะไรคืนไม่ได้ การตามไปถึงต้นตอต่างประเทศ ทำไม่ได้เพราะเกินขอบเขตอำนาจกฎหมาย

 

การมีโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการบอกต่อคนใกล้ชิด ดึงเข้ากลุ่มไลน์ กลุ่มเฟสบุ๊ก และอวดอ้างผลตอบแทน สร้างความน่าเชื่อถือจนคล้อยตาม ที่น่าสังเกตช่วงนี้มีเครือข่ายในลักษณะเดียวกันจำนวนมาก มีผู้พยายามรวบรวมมาเกือบ 20 ชื่อยี่ห้อลงทุนอัพเดทสถานะ เพราะตอนนี้หลายยี่ห้อเริ่มปิดหนี หรือ เรียกว่า “บิน” ไปแล้ว

ทำไมจึงถูกหลอกกันซ้ำๆ...ไม่หมดไปเสียที

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า การเห็นแก่ผลประโยชน์สูง กล้าได้กล้าเสีย ชื่นชอบการพนัน ทำให้ไทยเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ ยกตัวอย่าง คดียูฟัน หลอกลงทุนเหรียญดิจิทัล ยูโทเค่น มาเลเซียมีผู้เสียหาย 7,000 คน ไทย 150,000 คน เสียหายไป 3 หมื่นล้านบาท แถมตอนตำรวจทำคดี ไปปิดล้อมสำนักงานตำรวจ กล่าวหาขัดขวางการลงทุน แต่ละคนอาชีพ การศึกษาดี มีเงิน แต่ไม่เข้าใจการลงทุนที่แท้จริง

 

ผู้ชักชวนแม้เป็นผู้เสียหายด้วยแต่ก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม มีโทษจำคุกฐานฉ้อโกง ผู้ชักชวนที่เข้าข่าย คือ ได้ผลประโยชน์จากการชักชวน ไปกล่าวอ้างให้ผลตอบแทนสูงผิดปกติ และตัวธุรกิจมีกำไรผิดปกติ แค่เอ่ยปากชวนก็ผิด

 

ผู้เสียหายมีโอกาสเรียกร้องคืนได้จากผู้ชักชวนเหล่านี้เท่านั้น ไม่มีโอกาสเอาจากเว็บต่างประเทศ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจตามมา เงินที่ควรหมุนระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้ถูกทาง กลับถูกส่งไปเข้ากระเป๋าบางคน

 

ใครถูกชักชวนก่อนลงทุนควรหาทางตรวจสอบ เบื้องต้นอาจเข้าเว็บไซต์ กลต ก่อนได้ ว่ามีรายชื่อผู้ไม่ได้ประกอบธุรกิจอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ส่วนสัจธรรมเรื่องนี้ ต้องยึดว่าไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่าย ถ้าง่ายต้องสงสัยไว้ก่อนวาอาจหลอกลวง แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนตกเป็นเหยื่อรายต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง