สิ่งท้าทายเกษตรกรแพร่ งดใช้ "สารเคมี" สู่ "เกษตรอินทรีย์"

ภูมิภาค
15 ส.ค. 62
17:36
1,013
Logo Thai PBS
สิ่งท้าทายเกษตรกรแพร่ งดใช้ "สารเคมี" สู่ "เกษตรอินทรีย์"
ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ จ.แพร่ ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของประเทศ จะเริ่มมาตรการควบคุมการใช้สารเคมี เกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเกษตร จะต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียน

พื้นที่เกษตรกรรมใน จ.แพร่ มีมากกว่า 200,000 ไร่ ส่วนใหญ่ใช้สารเคมีเกษตรเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช โรคพืช แล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ “ยาฆ่าหญ้า” ทั้งที่นา สวนผลไม้ ไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง พืชเชิงเดี่ยว ทุกประเภท รวมไปถึงสวนผลไม้ ที่ปลูกแบบผสมผสาน และวนเกษตรล้วนแต่ใช้สารเคมี ในการปราบวัชพืชทั้งสิ้น มีการใช้สารเคมี ทั้งในพื้นที่ต้นน้ำ ทุกลุ่มน้ำสาขาสำคัญ ของแม่น้ำยม สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ถือว่าเป็นสารอันตราย

 

ในช่วงเดือน ต.ค. เป็นต้นไป มาตรการลดการใช้สารเคมีเหล่านี้ กำลังเริ่มขึ้นโดยเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ประกาศนโยบายชัดเจนในการลดและเลิกใช้ยาปราบศัตรูพืช ส่งเสริมงานวิจัยที่จะหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และเกษตรกรยอมรับนำไปใช้เป็นการส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดสารเคมีแบบ 100 % ที่เรียกว่า “เกษตรอินทรีย์” ควบคุมการใช้สารเคมี เพื่อนำไปสู่การลดละเลิกการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี

 

เกษตรกร ใน ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ทำสวนผลไม้และพืชไร่จำพวกข้าวโพด และมันสำปะหลัง กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ทราบข่าวมาตรการของรัฐในการออกคำสั่งให้หยุดการใช้สารเคมี ถ้าเกษตรกรรายใดมีความจำเป็นที่จะใช้ ต้องไปขึ้นทะเบียนและเข้ารับการอบรมการใช้สารเคมี ทั้งร้านจำหน่วยผลิตภัณฑ์เคมี คนงานที่ทำหน้าหน้าฉีดพ่นยา จะต้องเข้ารับการอบรม เพื่อให้เกิดการใช้อย่างปลอดภัย สิ่งเหล่านี้เกษตรกร ยังบอกว่า

ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเลิกใช้สารเคมี เพราะการเกษตรของพวกเขา ต้องใช้พื้นที่มาก แต่มีแรงงานน้อย ขณะเดียวกันรายได้ไม่สามารถสู้กับหนี้สิน

พวกเขาจึงต้องทำการเกษตรในปริมาณที่มาก "ยาฆ่าหญ้า" เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องใช้ถ้ามาตรการออกมาเข้มงวดเกินไป สิ่งที่ทำได้ของเกษตรกรคือการออกมา "ประท้วง" แน่นอน

 

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่กรมวิชาการกระทรวงเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการใช้มาตรการตามนโยบายของรัฐ ในการหยุดการใช้สารเคมีอันตรายครั้งนี้ มีมาตรการกำจัดสารเคมีที่ใช้ในการทำการเกษตร ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการหามาตรการ ออกมาใช้ 6 มาตรการ คือ 1.มาตรการด้านกฎหมายประกาศกระทรวง 5 ฉบับ กำหนดให้เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้าง ผู้ขาย ผู้นำเข้า หรือผู้ผลิต พนักงาน เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม 2.มาตรการทางวิจัยหาสิ่งทดแทน 3.เร่งศึกษาผลกระทบ 4.สร้างการรับรู้ 5.ทำดาต้าระบบฐานข้อมูลเกษตรทั้งจังหวัด 6.การฝึกอบรมเกษตรกรใน 6 มาตรการนี้ พบว่าขณะนี้มีผู้มาขอออกใบอนุญาตขายวัตถุอันตรายแล้วถึง 201 ราย

 

นายพงษ์รัตน์ ภิรมรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มองเห็นความสำคัญในการลดการใช้สารเคมี ก่อนหน้ามาตรการของรัฐ จึงเร่งขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562–2563 มีการจัดทำแผนรองรับและส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชแบบปลอดสารพิษ แต่พบว่าเกษตรกรที่ปลูกพืชปลอดภัย ไม่ได้รับความสนใจในตลาดทั่วไปมากนัก ผู้ขายยังคงนำไปปนอยู่กับพืชที่ใช้เคมี เพราะราคาอยู่ในระดับเดียวกันหรือต่ำกว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากคุณภาพอาจสู้กับพืชอาหารที่ใช้เคมีไม่ได้นับว่าการทำงานในปีที่ผ่านมา และปีนี้ประสบความล้มเหลวไม่สามารถพัฒนากลไกการทำงานของเกษตรปลอดภัยได้

 

นายรณเกียรติ คำน้อย ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 15 ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงในการปรับเปลี่ยนชาวบ้านยังคงใช้สารเคมีอยู่เป็นจำนวนมาก และกระจายอยู่ทุกพื้นที่ดังนั้นกลุ่มที่จะทำเกษตรอินทรีย์ ก็ต้องมีมาตรการป้องกัน สิ่งสำคัญแม้ว่ามีนโยบายรัฐเอื้อต่อการปลูกพืชอินทรีย์ แต่ชาวบ้านยังขาดความเข้าใจ การพูดคุยสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต้องสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้าน ปลูกพืชอินทรีย์ คือ การตลาด ราคา รวมไปถึงสุขภาพของเกษตรกร ซึ่งต้องคุยให้ชาวบ้านได้เข้าใจ โดยเฉพาะราคาจะต้องทำให้มองเห็นถึงความแตกต่าง คือสูงกว่าสินค้าที่ใช้เคมีจะทำให้เกิดแรงจูงใจไปสู่การพัฒนาได้

 

ทั้งนี้เห็นได้ว่า จ.แพร่ ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ในการเดินเข้าสู่การปรับเปลี่ยนจากพืชที่ใช้สารอันตรายเคมีเกษตร ไปสู่พืชอาหารปลอดภัย และยกระดับไปสู่เกษตรอินทรีย์ มีเป้าหมายเข้าสู่การรับรองออแกนิคไทยแลนด์ (มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย) มีแผนพัฒนาด้วยงบประมาณพัฒนาระดับภาคและงบประมาณพัฒนาระดับจังหวัด มีพื้นที่นำร่องในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เกษตรกรที่สนใจการลดการใช้เคมี จะไปร่วมประชุมสรุปแผนการทำงาน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้–แพร่ เฉลิมพระเกียรติ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สนใจกรอบการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของจังหวัดแพร่ จะลงมาดูพื้นที่ต้นแบบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง