วันนี้ (25 ส.ค.2562) นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า มาตรการงดแจกถุงหูหิ้วของห้างร้านต่างๆ เป็นมาตรการช่วยให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง และเห็นว่าควรมีมาตรเข้มข้นสำหรับผู้จำเป็นต้องใช้ถุง จะต้องเรียกเก็บเงินถุงละ 2 บาท เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นทุนดูแลสิ่งแวดล้อม
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijM75S8sTWA9UCaXeiCWPQeRGDe6RW.png)
โดยเงิน 2 บาทที่เสนอเก็บจะแบ่งเป็นเงินค่าดำเนินการและซีเอสอาร์ของห้างสรรพสินค้า ร้านค้า 25 สตางค์ อีก 50 สตางค์ ส่งไปสมทบกับกองทุนของสถาบันพลาสติก ที่มีเงินทุนเดิมประมาณ 5 ล้านบาท จาก 34 องค์กร ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม หรือ PPP Plastic และส่วนที่เหลือสำหรับเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม ภายใต้คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijM75S8sTWA9UCaXefmW4mZFIBXPEL.jpg)
ห้างควรงดแจกถุงหูหิ้ว แต่ถ้าจะให้ทุกคนไปซื้อถุงผ้าใบละ 50-60 บาท ก็เป็นภาระเกินไป ถ้าใครจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกก็ควรจ่ายถุงละ 2 บาท เอาเงินตัวมันเองไปเยียวยาสิ่งแวดล้อม
นายอภิภพ ให้ข้อมูลว่าบางประเทศ เช่น จีนและญี่ปุ่น เมื่อใช้มาตรการในลักษณะนี้ พบว่าปริมาณถุงพลาสติกลดลงมาก จึงได้นำเสนอโมเดลนี้ให้ภาครัฐพิจารณา แต่ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 1 ปี ยังไม่มีความคืบหน้า
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่าต้องปรับแก้กฎหมายบางอย่าง เช่น เงินจัดเก็บไม่ควรถูกจัดเป็นรายได้ของห้างร้านที่ถูกนำไปคำนวณเป็นภาษีนิติบุคคล เพราะต้องส่งต่อเงินไปใช้แก้ปัญหาขยะพลาสติก รวมถึง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมที่ควรมีข้อกำหนดด้วย
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijM75S8sTWA9UCaXegfgOM3L3fCE1V.jpg)
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากมีความร่วมมือหมุนเวียนใช้พลาสติก และเทคโนโลยีการกำจัดขยะครบวงจร จะช่วยให้เป้าหมายการลดขยะพลาสติกลงทะเลร้อยละ 50 เกิดได้เร็วขึ้น 3 ปี จากเดิมปี 2570 โดยสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน คือ การจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีข้อมูลเพียงปี 2561 ปีเดียว และยังต้องเพิ่มพื้นที่ที่ทำการศึกษา ผลกระทบจากมาตรการลดและเลิกใช้พลาสติกบางชนิด