เจ้าของภาพ "พระอุลตร้าแมน" ไม่ยอมให้ "คนค้าน" นำภาพไปทำลาย

สังคม
11 ก.ย. 62
13:06
14,673
Logo Thai PBS
เจ้าของภาพ "พระอุลตร้าแมน" ไม่ยอมให้ "คนค้าน" นำภาพไปทำลาย
เจ้าของภาพ โพสต์ประมูลภาพนำเงินไปช่วยโรงพยาบาลใน จ.นครราชสีมา ยืนยันไม่ยอมส่งคืนให้คนนำไปทำลาย ขณะที่กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน แจ้งความจับ ผู้วาด-ครู-ผู้จัดแสดง รวมถึง "อ.เฉลิมชัย-ทนายเดชา" ฐานออกความเห็นสนับสนุน

ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่ง โพสต์ข้อความและรูปภาพของตน พร้อมกับรูปภาพ 1 ใน 4 รูป ของภาพชุด "เต๊อะเติ๋น" หรือรูปภาพพระพุทธเจ้าอุลตร้าแมนที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ 

 

ข้อความที่โพสต์มีสาระสำคัญ ระบุว่า มีความพยายามที่จะเรียกภาพอุลตร้าแมนคืน เพื่อนำไปทำลายที่ จ.นครราชสีมา ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของภาพ 1 ใน 4 ภาพ ที่ซื้อมาตั้งแต่แรก ขอประกาศว่า จะใช้สิทธิในความเป็นเจ้าของ ไม่คืนภาพนี้ไปให้บุคคลใดเพื่อทำลายเด็ดขาด

ขอประกาศว่า ขอใช้สิทธิ์ในความเป็นเจ้าของ จะไม่คืนภาพให้เพื่อนำกลับไปทำลายอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ เจ้าของภาพ ระบุว่า แม้จะไม่ส่งภาพให้กับกลุ่มคนที่จะนำไปทำลาย แต่ก็ไม่ขอเก็บภาพนี้ไว้กับตนเอง เพราะไม่น่าจะเกิดประโยชน์ ดังนั้นจึงเตรียมที่จะใช้ภาพนี้สร้างประโยชน์แก่ จ.นครราชศรีมา แทน

โดยจะเปิดประมูลภาพนี้ เริ่มจากราคาตั้งต้น (ราคาที่ซื้อมาในวันแรก) 4,500 บาท เพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อเตียงสำหรับเด็กที่ใช้ในห้องไอซียู บริจาคให้กับโรงพยาบาลใน จ.นครราชศรีมา

ผู้สื่อข่าวรายว่า จากการตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าว ล่าสุด (วันที่ 11 ก.ย.2562 เวลา 12.30 น.) มีผู้ให้ราคาภาพนี้ 3.9 แสนบาท

 

กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน นำโดย นายจรูญ วรรณกสิณานนท์ และนายพงศ์นรินทร์ อมรรัตนา เข้าแจ้งความกับตำรวจที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) โดยขอให้ตำรวจดำเนินคดีกับนักศึกษาสาวที่วาดภาพพระอุลตร้าแมน ครูผู้สอน ผู้จัดสภานที่จัดแสดง รวมถึงอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และนายเดชา กิติวิทยานันท์ ที่ออกมาแสดงความเห็นสนับสนุน รวม 5 คน

นายจรูญ กล่าวว่า บุคคลทั้ง 5 คน มีความผิดตาม มาตรา 206 ประมวลกฎหมายอาญา "ผู้ใดกระทําด้วยประการใดๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด"

 

และมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ "รัฐพึงต้องมีมาตรการกลไกป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด" ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ารูปภาพดังกล่าว เป็นการวาดภาพพระพุทธรูปลักษณะคล้ายพระพุทธชินราช ในลวดลายอุลตร้าแมนล้อมด้วยเกศแก้ว เป็นภาพที่ใครเห็นก็รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า

 

ดังนั้นการกระทำของผู้วาดและคนอื่นๆ ที่สนับสนุน จึงเป็นการกระทำที่ทำลายมรดกชาติ ย่ำยีจิตใจของชาวพุทธทั้งประเทศ เพราะพระพุทธรูปเป็นที่ศรัทธาของชาวพุทธทุกคน และอีกด้านหนึ่งพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ทำให้คนต่างชาติเข้ามาเที่ยวประเทศไทย หากนักท่องเที่ยวเข้ามาพบเห็นรูปภาพแบบนี้จะถูกมองว่าไม่ดี

ทั้งนี้ นายจรูญ กล่าวว่า "มุมมองของตัวเองพระพุทธศาสนาสอนให้ยึดติด ให้สิ่งสักการะเหล่านี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อที่จะนำไปสู่สวรรค์ เปิดประตูไปสู่นิพพาน พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนว่าไม่ให้ยึดติด หรือให้ปล่อยวาง เป็นคำสอนที่ผิด หากสอนให้ปล่อยวางจริง แล้วเงิน แล้วบ้าน ก็ต้องปล่อยวางไปทั้งหมดไม่ต้องเอาอะไรสักอย่าง ไม่ต้องทำงาน คำสอนแบบนี้มันจึงไม่ใช่ ดังนั้นจึงไม่สงสารเด็ก เพราะเรื่องนี้มีความผิดแน่นอน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง