สพฐ.ประกวด ร.ร.ต้นแบบอาหารกลางวัน ต้องเป็น "เกษตรอินทรีย์"

สังคม
22 ก.ย. 62
10:55
1,033
Logo Thai PBS
สพฐ.ประกวด ร.ร.ต้นแบบอาหารกลางวัน ต้องเป็น "เกษตรอินทรีย์"
สพฐ.ผลักดันโรงเรียนทั่วประเทศปรุงอาหารปลอดสารพิษ 100% พร้อมเพิ่มเกณฑ์ใหม่สุดยอดโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ปี 2563 ต้องใช้เกษตรอินทรีย์

วันนี้ (22 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ปฎิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อนโครงการอาหารกลางวัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงพื้นที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านหนองปลา ต.นาขา อ.หลังสวน และโรงเรียนบ้านแหลมยางนา ต.ทุ่งตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่บริหารโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่ไข่, สำรวจความต้องการเมนูอาหารจากนักเรียนทุกคน และจัดทำเมนู Thai school lunch รวมทั้งทำระบบจัดการน้ำเสีย จนได้รับรางวัลโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ

 

 

นายทรงวุฒิ กล่าวว่า นักเรียนของโรงเรียนทั้ง 2 แห่ง มีภาวะทุพโภชนาการ คือ อ้วน ผอม และเตี้ย เพียงร้อยละ 1 ถือว่าบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งได้รับความร่วมมือจาก "บวร" หรือบ้าน วัด โรงเรียน โดยผู้ปกครองเข้าใจและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมของลูกหลาน เช่น ปลูกผัก เลี้ยงปลา, วัดในพื้นที่สนับสนุนข้าวสารอาหารแห้ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือ สนับสนุนข้าวสาร หรือวัตถุดิบปรุงอาหารเพิ่มเติม

โรงเรียนขนาดเล็กอยู่ได้อย่างมีความสุข ส่วนหนึ่งจากบวร บ้าน วัด โรงเรียน หากร่วมมือกันได้ก็ไม่มีปัญหาในการจัดสรรอาหารกลางวัน

 

สำหรับโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ที่ผ่านมาจะประเมิน 5 มาตรฐาน ได้แก่ การบริหารจัดการ, การบูรณาการการเรียนรู้, การมีส่วนร่วมของเครือข่าย, การดำเนินงาน และผลลัพธ์ หากบริหารมาตรฐานดังกล่าวได้มีประสิทธิภาพ จะไม่มีนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งกรมอนามัยกำหนดมาตรฐาน คือ ผอมไม่เกินร้อยละ 5 เตี้ยไม่เกินร้อยละ 5 และอ้วนไม่เกินร้อยละ 10

 

 

ส่วนในปี 2563 จะต่อยอดโครงการดังกล่าว ด้วยการมอบรางวัล "สุดยอดโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ" พร้อมเพิ่มตัวชี้วัดการใช้วัสถุดิบเกษตรอินทรีย์ปรุงอาหารกลางวัน หลังพบว่าโรงเรียนแห่งหนึ่ง จ.เชียงราย มีนักเรียนร้อยละ 97 ปนเปื้อนสารอันตรายจากยาปราบศัตรูพืช เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกต้องดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน หรือเป็นความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ เพื่อร่วมผลิตและจำหน่ายวัสถุดิบให้กับโรงเรียน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

 

ตัวชี้วัดต้องเป็นโรงเรียนที่ใช้วัสถุดิบในการปรุงอาหารให้นักเรียน เป็นเกษตรอินทรีย์ 100% ทำอย่างไรให้โรงเรียนเป็นตลาดของชุมชน เมื่อผลิตสินค้าวัสถุดิบที่เป็นอินทรีย์ เงินทุกบาททุกสตางค์จะตกไปอยู่กับชุมชน เงินลูกหลานท่าน 20 บาทต่อหัวต่อวัน ก็จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง