"43 ปี 6 ตุลา" รวบรวมหลักฐานจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา”

การเมือง
6 ต.ค. 62
14:49
2,325
Logo Thai PBS
"43 ปี 6 ตุลา" รวบรวมหลักฐานจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา”
"ธรรมศาสตร์" จัดงานรำลึกเหตุนองเลือด "6 ตุลาฯ 19" เปิดนิทรรศการ "ประจักษ์ พยาน" รวบรวมหลักฐานในเหตุการณ์ฯ มาจัดแสดง เพื่อขยายความเข้าใจในสังคม พร้อมมอบรางวัล "จารุพงษ์ฯ เพื่อ ปชต." ปีแรกให้ "จ่านิว" ผู้สานต่ออุดมการณ์ ปชต.

วันนี้ (6 ต.ค.2562) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานรำลึก "ครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519" โดยมีญาติวีรชนและผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมไว้อาลัยและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง พร้อมร่วมวางพวงมาลาและดอกไม้ ที่ลานประติมานุสรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า แม้เหตุการณ์นองเลือดจะผ่านมา 43 ปีแล้วแต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายเรื่อง ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตระหนักถึงความสำคัญ และยอมรับความจริงในบาดแผลทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การสรุปบทเรียนไม่ให้เหตุการณ์ความรุนแรงจากความเห็นต่างทางการเมืองเกิดขึ้นอีกในอนาคต


นายนิติศักดิ์ ปานปรุง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนนักศึกษา กล่าวรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ในฐานะนักศึกษาและประชาชน แม้ผ่านเหตุการณ์มา 43 ปี แต่ไม่แน่ใจว่าสังคมไทย ได้เรียนรู้บทเรียนจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มากน้อยเพียงใด เพราะพบว่ายังมีการสร้างความเกลียดชังกับผู้เห็นต่างทางการเมือง

แม้ใครอยากให้เราลืม เราไม่เคยลืม และจะไม่มีวันลืม พวกเราจะขอจดจำการเสียสละ ทุ่มเททุกสรรพกำลัง เพื่อพิทักษ์และปกป้อง ไม่ให้ประวัติศาสตร์การนองเลือดซ้ำรอย จะขอยึดมั่นอุทิศตนเองเพื่อประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้การเสียสละของวีรชนคนกล้าเดือนตุลาต้องสูญเปล่า 


ปีนี้ยังเป็นปีแรก ที่ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบรางวัล "จารุพงษ์ ทองสินธ์ุ เพื่อประชาธิปไตย" ให้แก่นักกิจกรรมที่เรียกร้องและปกป้องประชาธิปไตย เช่นเดียวกับ ที่นายจารุพงษ์ หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้เคลื่อนไหว โดยมอบให้แก่ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หลังต้องเผชิญเหตุการณ์ลอบทำร้ายร่างกายหลายครั้ง จากการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยผู้มอบรางวัล คือ นายประภัสสร ทองสินธุ์ น้องชายของนายจารุพงษ์ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
 


ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตผู้นำนักศึกษา ม.มหิดล และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้เปลี่ยนความวัยเยาว์ของนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งไปตลอดกาล การเสียชีวิตของเพื่อนนักศึกษา ทำให้ตนใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีปัญญา รู้เท่าทัน และพยายามทำให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในสังคมอย่างเท่าเทียม โดยยกตัวอย่างบทบาทของหลายภาคส่วน ที่ร่วมกันผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
 

จุดชี้ขาดที่สำคัญ คือ เสียงของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2540 นำมาสู่คะแนนเลือกตั้ง เป็นการได้รับฉันทานุมัติเต็มเปี่ยม ในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากวันนั้น 6 มกราคม 2544 การสาธารณสุขไทยและการเมืองไทยก็เปลี่ยนไป ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมได้อีก 

โครงการจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา"


บริเวณโถงหอประชุมศรีบูรพา ยังถูกใช้จัดนิทรรศการ "ประจักษ์ | พยาน" ซึ่งมีการนำหลักฐานบางชิ้นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาจัดแสดง เช่น ประตูแดง นครปฐม ที่เป็นสัญลักษณ์สะท้อนความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้นำแรงงานในช่วงเหตุการณ์, ลำโพงวันที่ 6 ตุลา ที่มีร่องรอยของกระสุนปืนลูกซอง รวมถึงเครื่องแต่งกายของนายดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ที่ใส่เข้าร่วมชุมนุมและเสียชีวิตในเหตุการณ์ฯ มาจัดแสดง โดยทั้งหมด จะถูกรวบรวมในโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งข้อมูล เพื่อขยายพื้นที่ความเข้าใจของคนในสังคม


"ต่างความคิด ผิดถึงตาย" ยังถูกใช้เป็นชื่อของกิจกรรมในงานรำลึกเหตุการณ์ปีนี้ รวมถึงยังมีการแสดงเชิงศิลปะอื่น ๆ เช่น นิทรรศการภาพถ่าย การแสดง และบทเพลง เพื่อสะท้อนความเป็นจริง และนำบทเรียนมาป้องกันเหตุรุนแรงจากความเห็นต่างทางการเมือง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ญาติวีรชน "รำลึก" 42 ปีเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 

รำลึกครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ที่ ม.ธรรมศาสตร์

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง