งานวิจัยชุมชน ชุบชีวิต "หอยคลองโคน "

สิ่งแวดล้อม
19 พ.ย. 62
15:34
1,818
Logo Thai PBS
งานวิจัยชุมชน ชุบชีวิต "หอยคลองโคน "
นักวิจัยและชาวบ้าน ร่วมทำงานวิจัยชุมชน ชุบชีวิตชาวคลองโคลนแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแครงขึ้นชื่อของไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

หอยคลองโคลนแทบสูญพันธุ์

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ.2554 มวลน้ำจากภาคเหนือและภาคกลางถูกระบายจากคลองมหาสวัสดิ์ไหลมายังแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำเสีย ผลที่ตามมาคือเกิดแพลงก์ตอนบลูมทั้งทะเลทำให้หอยแครงคลองโคน ต.คลองโคน อ.เมืองสมุทรสงครามได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและใช้เวลาหลายปีในการฟื้นคืน

จากรายงานสถิติผลผลิตการเลี้ยงหอยแครงของกรมประมง พบว่า ในปี พ.ศ. 2551 - 2553 มีปริมาณผลผลิต ระหว่าง 4,017 - 5,065 ตัน แต่ในปี พ.ศ.2554 - 2555 พบว่า ปริมาณผลผลิตหอยแครงลดลงเหลือเพียง 2,613 - 2,518 ตัน (สถิติการประมงแห่งประเทศไทย, 2557) การลดลงของหอยแครงบริเวณ ต.คลองโคน มีสาเหตุมาจากการตายระหว่างการเลี้ยงจำนวนมาก เพราะคุณภาพน้ำและดินบริเวณแหล่งเลี้ยงหอยแครงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหอยแครง 

 

นักวิทย์ – ชาวบ้าน ร่วมทำวิจัย

นายไพฑูรย์ มกกงไผ่ นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า พื้นที่ตำบลคลองโคนเคยเป็นแหล่งหอยขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ เรียกว่าเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญ ตั้งแต่เจอวิกฤตปี 54 ในช่วงน้ำท่วมของเสียต่าง ๆ ถูกส่งไหลมาตามลำน้ำสายต่าง ๆ พื้นที่คลองโคนเมื่อรับน้ำเสียเกิดการหอยตายยกฟาร์ม ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวและตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น

 

นำไปสู่การร่วมมือกับนักวิชาการทำ "โครงการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดและการป้องกันการตายหมู่ (ยกฟาร์ม) ของหอยแครงตำบลคลองโคนโดยมีส่วนร่วมของชุมชน" โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ การจัดการฟาร์ม และโรคที่เกิดขึ้นในบริเวณที่เลี้ยงหอยแครงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จากนั้นเมื่อทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ชาวบ้านก็ตื่นตัวเพื่อไปหามาตรการป้องกันในพื้นที่เหนือน้ำ รวมถึงจัดการระบบบำบัดน้ำเสียในชุมชน และสร้างเครือข่ายและจัดทำระบบฝายกั้นน้ำหอยแครงคลองโคนจึงค่อย ๆ กลับมา

สาเหตุหลักหอยตาย

นายไพฑูรย์ เล่าต่อว่า สาเหตุหลักที่ทำให้หอยตายคือ สิ่งแวดล้อม เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและไม่แน่นอน น้ำขึ้นและน้ำลงในปริมาณมากเช่น ลดลงมากผิดปกติจนน้ำแห้ง ประกอบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็กระทบกับสัตว์น้ำ หอยจึงลงไปในดินที่ลึกลงไป ขณะที่ในดินซึ่งมีแก๊สที่สะสมไว้จำนวนมากจึงทำให้สัตว์ตายหรืออ่อนแอและเมื่อมีน้ำไหลเข้ามาเติมโดยมีมลพิษปะปนมาจึงยิ่งทำให้สัตว์อ่อนแอ เมื่อสัตว์อ่อนแอเชื้อโรคที่อยู่ในดินหรือเชื้อโรคที่มากับน้ำก็โจมตีและทำให้หอยตาย ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มาสนับสนุนให้เกิดการตายของหอยแครงจำนวนมาก

ปัจจัยต่าง ๆ เป็นลูกโซ่ ผสมกันทั้งสภาพภูมิอากาศ มลพิษ เชื้อโรค เป็นปัจจัยที่มารวมกันและทำให้หอยตาย

ดังนั้นการวิจัยด้วยการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ หรือวัดค่าออกซิเจนในน้ำจึงช่วยให้ชาวบ้านทราบและหาวิธีการปรับปรุงหรือดูแลให้เหมาะสมจึงช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

สถานการณ์ที่รุนแรงคือปริมาณหอยแครงลดลงมากจนแทบจะหมดทั้งพื้นที่ ซึ่งเมื่อปรับปรุงก็ช่วยให้หอยแครงเริ่มกลับมาดีขึ้นเยอะ เริ่มมีหอยเกิดเมื่อมีหอยเกิดขึ้นก็แสดงว่าสถานการณ์เริ่มดี เพราะคุณภาพน้ำดีขึ้นหอยแครงก็สามารถเกิดขึ้นได้

ขณะที่ในอนาคตพื้นที่ต้นน้ำต้องบริหารจัดการน้ำ ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องดูแลฟาร์มและอุตสาหกรรมที่จะปล่อยน้ำลงมาเพื่อให้น้ำที่ปล่อยลงมามีคุณภาพที่ดีหรือส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อหอยแครง 

เดินหน้าฟาร์มหอยระบบกึ่งปิด

สอดคล้องนายวรเดช เขียวเจริญ เกษตรกรผู้เลี้ยงหอย “วรเดชฟาร์ม” และแกนนำนักวิจัยชุมชนคลองโคน จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ย้อนไปช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 และน้ำไหลมาจนออกอ่าวไทยเกิดสภาวะแพลงก์ตอนบลูมกระทบสัตว์น้ำในอ่าวไทยทั้งหมด และสัตว์น้ำในละแวกนี้ตายแทบทั้งหมด และในช่วงปี 55 -56 ทั้งลำน้ำแม่กลองยาวไปเกือบถึงอัมพวา และเข้าไปถึง ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี สัตว์น้ำหน้าอ่าวตายทั้งหมด ทั้งหอยหลอด หอยแครง แทบสูญพันธุ์ จนในปี 2557 ชาวบ้านเริ่มปล่อยหอยได้บ้างแต่ไม่มากนักแต่ยังมีการทยอยตายไปเรื่อย ๆ จึงเริ่มสงสัยผมจึงตั้งข้อสังเกตและต้องการหาสาเหตุการตาย

 

จนในที่สุดจึงเริ่มมามีการวิจัยและถอดบทเรียนเก็บหลักฐานน้ำ ดิน รวมถึงระบบขึ้น-ลงของน้ำ และการตายของหอยแครงที่ไม่เท่ากันในหลายพื้นที่จึงมาเรียนรู้ในด้านพื้นที่ของทะเลรวมถึงอุณหภูมิของน้ำและทะเลที่ไม่เท่ากัน ในพื้นที่คลองโคนเมื่อได้ข้อมูลในแต่ละเดือนก็จะส่งข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน และประสานกับภาครัฐจนนำไปสู่การจัดการน้ำและระบบนิเวศ และทำงานสิ่งที่เกิดขึ้นคือหน้าคลองโคนมีหอยเกิดแล้วและเริ่มมีกำลังใจว่าเริ่มได้ผลแล้ว

 

ต่อมาจึงเริ่มการทดลองทำฟาร์มหอยแครงในระบบกึ่งปิดโดยรับน้ำจากภายนอกเข้ามาในบ่อโดยเริ่มใช้พื้นที่ราว 20 ไร่ โดยมี 2 ส่วน คือ การเลี้ยงหอยแครงกับการเพาะพันธุ์หอย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เลี้ยงระบบปิดก็มีปัญหาเรื่องแบคทีเรียสะสมที่มากเกินไปเพราะระบบน้ำไม่ถ่ายเทจึงปรับมาเป็นรูปแบบระบบกึ่งปิด

ทั้งนี้ยังมีอุปสรรคที่พบคือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เนื่องจากการให้อาหารหอยซึ่งได้แก่สาหร่ายจะต้องกระจายให้ทั่วพื้นที่ อาจมีต้นทุนด้านค่าไฟ หรือแรงงานสูงขึ้นมากกว่าการเลี้ยงในทะเลที่ต้นทุนต่ำกว่ามาก เนื่องจากมีต้นทุนหลักคือ พันธุ์หอยที่ซื้อหอยมาเลี้ยงเท่านั้น แต่หากการเลี้ยงหอยในระบบปิดสามารถเดินหน้าได้อย่างดีก็จะเป็นรูปแบบของหอยแครงพรีเมี่ยมได้

ฟื้นหอยท้องถิ่นลดนำเข้าหอยแครงนอก

นายวรเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการเพาะพันธุ์หอยก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันเนื่องจากขณะนี้การนำเข้าหอยจากต่างประเทศเช่น มาเลเซียหรือ อินเดีย ที่ค่อนข้างไกล ราคาสูงและอัตราการรอดต่ำเนื่องจากการขนส่งค่อนข้างไกล ดังนั้นจึงต้องทดลองเพาะพันธุ์หอยให้มีจำนวนหอยมากขึ้นซึ่งจะทำให้ราคาต้นทุนของพันธุ์หอยลดลง

 

การซื้อพันธุ์หอยแครงจากต่างประเทศ สามารถซื้อได้ครั้งและปริมาณมากได้ แต่ด้วยระยะทางและปัจจัยต่าง ๆ หอยแครงที่รอดก็ไม่สูงมากนัก จึงมีแนวทางเพาะพันธุ์หอยท้องถิ่นให้กลับมาอีกครั้ง

ปัจจุบัน ราคาพันธุ์หอยขนาด 400 – 500 ตัวต่อกิโลกรัมอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท โดยขณะนี้ได้ใช้การรับซื้อพันธุ์หอยท้องถิ่นของคลองโคนจากชาวบ้านในท้องถิ่นโดยรับซื้อทั้งหมดครั้งละ 4 - 5 กิโลกรัมก็รับซื้อ 

ขณะที่การเลี้ยงหอยต้องใช้เวลานานประมาณ 1 ปี จึงจะได้ขนาดที่ต้องการ เกษตรกรต้องดูแลรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีจนกว่าจะเก็บหอยขายได้ ส่วนราคาหอยขึ้นอยู่กับขนาด มีทั้งขนาด 150 ตัว, 120 ตัวกิโลกรัม เช่น หอยขนาด 100 ตัว/กิโลกรัม มีราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ประมาณ 140 บาท หากเราย้อนกลับไปเมื่อ 6 - 7 ปีที่ผ่านมาเราถือเป็นผู้ส่งออกหอย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง