“บิ๊กคลีนนิ่ง” กลยุทธ์หยุดจุดดูดขยะชุมชน

Logo Thai PBS
“บิ๊กคลีนนิ่ง” กลยุทธ์หยุดจุดดูดขยะชุมชน

บ้านชุมเห็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เมืองขนาดใหญ่ ชุมชนริมถนนสายหลักผ่านเข้าตัวเมืองบุรีรัมย์ มีประชากรราว 2,500 คน กว่า 600 ครัวเรือน เป็นที่ตั้งของโรงเรียน โรงพยาบาลและวัดขนาดใหญ่ ทำให้มีผู้คนนอกพื้นที่ผ่านเข้ามาวันละไม่น้อย

ชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องขยะตามมา โดยมีปริมาณขยะเกิดขึ้นวันละ 350 กิโลกรัม นอกจากค่าใช้จ่ายในการเก็บและขนขยะไปกำจัดแล้ว ปัญหาที่กำลังตามมาก็คือ บ่อฝังกลบขยะจะเต็มเร็วขึ้น และส่งผลกระทบต่อชุมชนในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ดอนแก้ว” จับมือ 11 ชุมชน ตั้งกฎลดขยะ ตั้งเป้าปิดบ่อขยะ

หักดิบ “ปลดถังขยะ 100%” จุดเริ่มแก้ขยะชุมชน

เปลี่ยน "ขยะ" เป็นสวัสดิการชุมชน ชวนลดจากต้นทาง

เปลี่ยนเมือง ! แฟลตคลองเตย ลดขยะกว่า 30% ใน 3 เดือน

 

 

ชุมชนทางผ่าน จุดจอดขยะจร

นิยม สิงหชัย ประธานชุมชน ระบุว่า ชุมชนไม่เพียงแต่ประสบปัญหาขยะจากนอกพื้นที่เท่านั้น แต่ในชุมชนเอง ชาวบ้านก็ยังขาดความเข้าใจ ทิ้งขยะทุกอย่างรวมกันโดยไม่มีการคัดแยก บางครัวเรือนกำจัดเอง หรือลักลอบทิ้งในที่สาธารณะ ทำให้ขยะล้นถัง ปลิวว่อนตามถนน ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนคนในชุมชนเอง

เมื่อมีโครงการชุมชนปลอดขยะสู่ความยั่งยืน “สะอาดบุรี ปี 2” ซึ่งเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธาณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส จัดขึ้นในรูปแบบของการแข่งขัน ให้ชุมชนที่มีปัญหาขยะจับคู่กับชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการจัดการขยะในระดับมือรางวัล เพื่อเรียนรู้การจัดการขยะให้เกิดประสิทธิภาพ ชุมชนชุมเห็ดจึงจับมือกับชุมชนบุลำดวนใต้ เป็นชุมชนพี่เลี้ยงเข้าร่วมแข่งขัน

ต้องเซ็ทซีโร่ เก็บขยะเก่า เพื่อไม่ให้เกิดขยะใหม่

เพราะความที่ทั้งในชุมชนชุมเห็ด โรงเรียน และวัด ไม่เคยมีการจัดการขยะมาก่อน ประกอบกับในชุมชนมีที่รกร้างหลายแห่ง ทำให้ผู้ที่มักง่ายลักลอบทิ้งขยะ ในโรงเรียนมีขยะถูกทิ้งทั่วไป ในวัดเต็มไปด้วยกิ่งไม้ ใบไม้เกลื่อนกลาด ขยะจากร้านค้า มีการเผาพวงหรีดทุกวัน และผู้คนที่เข้ามาจอดรถในวัด เพื่อพักระหว่างรอหมอที่โรงพยาบาลที่อยู่ข้างเคียง

“ชุมชนได้รับคำแนะนำว่า ขยะจรเป็นปัญหาที่จัดการได้ยาก เพราะคนต่างถิ่นนำเข้ามา การจะขอความร่วมมือหรือรณรงค์ทำได้ยาก ที่สำคัญสภาพไร้ระเบียบและความเกลื่อนกลาดของขยะ เป็นตัวดึงดูดขยะให้เข้ามามากขึ้น เพราะเมื่อคนเห็นว่า มีขยะอยู่แล้วก็จะทิ้งตามกัน การเริ่มต้นใหม่หรือเซ็ทซีโร่ จึงจำเป็นสำหรับชุมชนที่มีปัญหาแบบนี้ เพราะถ้าสะสางให้ทุกสิ่งเข้าที่เข้าทาง จนสภาพแวดล้อมสะอาด เป็นระเบียบแล้ว คนทั่วไปก็จะไม่กล้าทิ้งขยะใหม่อีก ดังนั้นสิ่งแรกที่ชุมชนชุมเห็ดลงมือทำคือ Big Cleaning ทั้งที่ภายในชุมชน วัด และโรงเรียน”

 

ประธานชุมชนชุมเห็ด บอกว่า จากการทำ Big Cleaning ในชุมชน จึงนำขยะที่จัดเก็บได้มาคัดแยก ได้ถึง 13 ประเภท ซึ่งชุมชนเห็นว่า เศษอาหาร ควรจะได้รับการจัดการก่อน เพราะนำไปทำปุ๋ยได้ ขณะที่พลาสติกแยกออกมาขายไปรีไซเคิลได้ ยิ่งชุมชนเห็นองค์ประกอบขยะเช่นนี้ ทำให้เห็นว่า น่าจะแก้ปัญหาได้ไม่ยาก

“ตอนนี้ที่รกร้างของชุมชน ที่เคยเต็มไปด้วยขยะถูกลักลอบนำมาทิ้ง ไม่มีขยะแล้ว พื้นที่รกร้างถูกปรับให้เป็นพื้นที่โล่ง ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมอบรมการจัดการขยะของชุมชน รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ และเป็นสถานที่ออกกำลังกาย เราดำเนินการกับที่รกร้างไปแล้ว 1 จุด เหลือ อีก 2-3 จุด ที่จะต้องทำต่อ หวังว่าจะไม่ให้พื้นที่รกร้างมีขยะกองเกลื่อนอีกแล้ว” 

 

เมื่อมีพื้นที่โล่ง ชุมชนพี่เลี้ยงก็เข้ามาช่วยจัดกิจกรรมอบรม สร้างการรับรู้ให้คนในชุมชนในแต่ละครัวเรือนให้เข้าใจการคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างถูกวิธี ด้วยวิธีการง่ายๆ ที่ชุมชนเมืองพอทำได้ เช่น ขยะรีไซเคิล ครัวเรือนคัดแยกเพื่อนำมาขาย ขยะทั่วไป ลดการสร้างขยะด้วยการนำถุงผ้าไปซื้อของ บางบ้านมีพื้นที่ที่เป็นดิน ก็ใช้ถังตัดก้นฝั่งลงดิน เพื่อทิ้งเศษอาหารลงทำเป็นปุ๋ยหมัก ส่วนขยะอันตราย จะรวบรวมไปใส่ตู้เก็บของชุมชน จากนั้นเทศบาลจะนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

เช่นเดียวกับวัด ซึ่งเคยเป็นแหล่งรวมขยะจำนวนมาก ก็มีการเก็บกวาดลานวัด ทำเสวียน (ไม้ไผ่สานเป็นรั้วเตี้ยๆ) ล้อมรอบโคนต้นไม้ใหญ่ เพื่อรวมเศษใบไม้วัชพืชให้เป็นปุ๋ย และติดป้ายห้ามทิ้งขยะอื่นๆ ริมกำแพงวัดที่มักมีผู้คนมาจอดรถพักรอทำธุระต่างๆ ที่เคยมีขยะเกลื่อนกลาด ก็ถูกเก็บกวาดจัดระเบียบใหม่ เมื่อสภาพแวดล้อมสะอาด สิ่งที่ตามมาคือ ร้านตัดผมที่อยู่บริเวณใกล้เคียงลานวัด ก็เข้ามาให้ความร่วมมือเป็นอาสาสมัครช่วยตรวจตราบริเวณลานวัด และบอกกล่าวกับคนทั่วไปที่เข้ามาจอดรถ ไม่ให้ทิ้งขยะและก้นบุหรี่

 

นายนิยม กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการชุมชน ยังได้ประสานกับเจ้าอาวาสปรับเปลี่ยนจุดเผาพวงหรีด ให้เป็นที่ปลูกต้นไม้จนสวยงาม และขอความร่วมมือกับเจ้าภาพงานศพและร้านขายพวงหรีด ให้ใช้ดอกไม้จันทน์ทำพวงหรีดแทนดอกไม้สดและโฟม เพราะเมื่อถึงวันเผาศพ ก็ดึงดอกไม้จันทน์ไปใช้ในพิธีได้เลย และส่งแกนพวงหรีดกลับไปให้ร้านค้าใช้ซ้ำ จะทำให้ไม่มีพวงหรีดให้เผาอีก

ขณะที่ปัญหาในโรงเรียน คณะกรรมการชุมชนได้เข้าไปขอให้ครูช่วยจัดระเบียบการแยกขยะ โดยทางโรงเรียนสร้างกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมาเสริม เพื่อให้เชื่อมไปถึงผู้ปกครอง ให้เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย

ก้าวเล็กๆ สู่ความยั่งยืน

เพียงแค่เริ่มจากบิ๊กคลีนนิ่งที่เป็นการเซ็ทซีโร่ ชุมชนเริ่มก้าวต่อไปโดยค่อยๆ นำถังขยะในชุมชนออกไปจากชุมชน จากที่ตั้งไว้จุดละ 3 ถัง เหลือเพียง จุดละ 1 ถัง และพบว่า เวลาเพียง 3 เดือน (ส.ค.- ต.ค.2562) ที่ชุมชนเข้าร่วมโครงการ ขยะในชุมชนที่เฉลี่ยจากวันละเกือบ 350 กิโลกรัม ลดลงถึง 2 ใน 3 เหลือเพียง 100 กิโลกรัมเศษเท่านั้น

“ตอนนี้การจัดการขยะดีขึ้น ชาวบ้านที่คัดแยกขยะมีรายได้เพิ่มขึ้น เหลือขยะไม่มากที่จะนำไปทำลายและฝังกลบ เป็นการช่วยลดขยะได้อีกทางหนึ่ง รถเก็บขยะซึ่งแต่ก่อนจะมี 2 คัน รอบเช้า และรอบสาย ตอนนี้เหลือเพียงรอบเช้ารอบเดียว เป็นการลดภาระในการเก็บขยะให้กับเทศบาลด้วย การเริ่มทำสิ่งใหม่ในชุมชน แต่เมื่อคนในชุมชนเห็นประโยชน์ว่าทำแล้วช่วยลดปัญหาได้จริง

ตอนนี้ มีครัวเรือนเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชนราว 80 % และชุมชนยังมีการจัดกิจกรรม Big cleaning เพื่อกระตุ้นให้คนในชุมชนร่วมกันจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง