งานวิจัยชี้ "คอนโดฯ แคบ" ส่งผลคนเลือกใช้ชีวิตโสด

สังคม
6 ธ.ค. 62
17:55
3,033
Logo Thai PBS
งานวิจัยชี้ "คอนโดฯ แคบ" ส่งผลคนเลือกใช้ชีวิตโสด
เปิดงานวิจัย “คนเมือง 4.0 อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย” ชี้ ราคาที่ดินส่งผลคนเมืองเล็งใช้คอนโดมิเนียมเป็นพำนักสุดท้ายบั้นปลายชีวิต ขณะที่ขนาดห้อง "เล็กและแคบ" ลง มีผลต่อการตัดสินใจใช้ชีวิตโสด นักวิชาการเสนอ รัฐต้องเร่งสร้างระบบสวัสดิการ คนไทยวางแผนการออม

 

เคยนึกภาพในวันที่ตัวเองโสด และค่อย ๆ แก่ตัวลง คุณจะใช้ชีวิตอย่างอย่างไร

บางคนอาจหวังฝากผีฝากไข้กับญาติพี่น้อง หรือ วางแผนออมเงิน เพื่อนำไปใช้ยามต้องอาศัยบ้านพักคนชรา แต่สำหรับคนเมืองที่รายรับไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย สนุกกับชีวิตอิสระ ชอบการท่องเที่ยว กว่าจะเก็บเงินได้อาจไม่ทันวัยเกษียน ที่พึ่งสุดท้ายของใครหลาย ๆ คน จึงจบลงที่การมีคอนโดเป็นของตัวเอง ไว้อาศัยอยู่ยามแก่เฒ่า

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีคอนโดมิเนียมผุดขึ้นกว่า 5 แสนยูนิต ส่วนมากสร้างขึ้นมาในระยะไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา คนจำนวนหนึ่ง ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และคนบางกลุ่มซื้อเพื่อการลงทุน ท่ามกลางความท้าทายด้านสังคมสูงวัย

ในบรรดาคนเมือง ที่ลงทุนในที่อยู่อาศัยแนวตั้งเช่นนี้ จะมีสักกี่คน ที่มองเห็นภาพตัวเองค่อย ๆ แก่ขึ้น ในขณะที่คอนโดมิเนียมค่อย ๆ เก่า และเสื่อมโทรมลง ในเวลานั้น เราจะมีเรี่ยวแรง หรือ เงินเก็บเพียงพอจะซ่อมแซมหรือไม่

 

ขนาดห้องที่เล็กลง ส่งผลต่อการตัดสินใจ "โสด"

งานวิจัย “คนเมือง 4.0 อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย” ยังเชื่อมโยงระหว่างวิกฤตทางเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลต่อผู้สูงอายุ ในอีก 20 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลขาดการวางแผนเพื่อรองรับรูปแบบการใช้ชีวิต “โสด โดดเดี่ยว” ซึ่งแม้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่พบว่าคนในเจนเนอเรชั่นใหม่ ๆ นิยมใช้ชีวิตโสดมากขึ้น ทั้งไม่มีแฟน ไม่สมรส และการหย่าร้าง รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

ราคาที่ดินที่สูงขึ้น ตามความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตเมือง โครงข่ายการคมนาคม ส่งผลให้ราคาคอนโดมิเนียมแทบทุกจุด ถีบตัวพุ่งสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ในเวลาเดียวกัน ขนาดต่อห้อง กลับเล็กลงเรื่อย ๆ และเป็นหนึ่งในปัจจัย ระหว่างการเลือกชีวิตโสด หรือ การมีครอบครัว


งานวิจัยยังระบุว่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดให้อาคารอยู่อาศัยรวม ต้องมีพื้นที่ภายในแต่ละหน่วยที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 20 ตร.ม. ห้องนอนต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตร.ม. และห้องน้ำที่รวมกับห้องส้วมต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.50 ตร.ม. พื้นที่ที่เหลืออีกเพียง 10.5 ตร.ม. ย่อมไม่ใช่การอยู่อาศัยที่มีคุณภาพ หากต้องใช้ชีวิตคู่หรือมีลูกอีก 1 - 2 คน

สถานการณ์สุดโต่งนี้ อาจทำให้ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรมีแนวโน้มอยู่อาศัยถาวรในคอนโดมิเนียม แต่เลือกที่จะเช่าอยู่ แทนการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเมื่อไม่มีอสังหาริมทรัพย์ หรือ ที่ดิน เป็นหลักประกันในชีวิต หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน คนกลุ่มนี้ก็มีความเสี่ยงสูง ที่จะกลายเป็นคนไร้บ้าน


"ภัณฑิรา จูละยานนท์"
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมวิจัยฯ ตั้งข้อสังเกตว่า หากแนวโน้มสถานการณ์ของประชากรและที่อยู่อาศัยในเมือง อาจเข้าขั้นวิกฤตในอีก 20 ปีข้างหน้า ภาครัฐจะมีนโยบายรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร  

เราควรจะมีนโยบายเรื่องการเช่าเพิ่มขึ้น ประกันสังคมจะจัดการอย่างไร หรือ กฎหมายในเรื่องของหนี้สิน เราจะยังคงพูดถึงบ้านซึ่งเป็นหลักทรัพย์ของเราอยู่หรือเปล่า เป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องเริ่มวางแผน เพราะแนวโน้มมีความชัดเจน
ภาพจาก : www.dailymail.co.uk

ภาพจาก : www.dailymail.co.uk

ภาพจาก : www.dailymail.co.uk


ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Kodokushi (โคโคคุชิ) หรือ การตายโดยลำพังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ มักเกิดกับผู้สูงอายุ บางรายอาจถูกพบในเวลาไม่กี่วัน หรือ นานที่สุดคือ 3 ปี ที่พบร่างก็เหลือแต่โครงกระดูก นี่ทำให้เกิดอาชีพใหม่ คือ บริษัทรับจ้างทำความสะอาดห้องที่มีคนตาย รวมถึงเจ้าของบ้านหรืออพาร์ทเม้นท์ สำหรับลูกค้าที่ชื่นชอบความท้าทายในการเข้าพัก

ภาพที่เกิดขึ้น ไม่เพียงสะท้อนความเหงา หรือ ความหดหู่เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมืองใหญ่หลายแห่งอย่างรวดเร็ว ที่ดินและที่อยู่อาศัยราคาสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ที่นำไปสู่ความไม่มั่นคงในการทำงาน โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ความเปลี่ยนแปลงของลักษณะครอบครัวและชุมชน ที่ส่งผลให้ขาดเครือข่ายความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผนวกกับการขาดหลักประกันทางสังคม ทั้งการประกันการว่างงาน ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงระบบดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ป่วยทั้งทางกายและทางจิต ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนที่จะเพิ่มจำนวน คนไร้บ้านในเมืองใหญ่ 

 

"โสด โดดเดี่ยว" ไม่ใช่เรื่องผิด หากมีแผนตั้งรับที่ดี

อีกแค่ปีเศษ ๆ หรือในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 หรือราว 13 ล้านคน และอีก 20 ปีถัดไป ในปี 2583 ประเทศไทย จะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 20 ล้านคน เทียบเท่า 1 ใน 3 ของคนไทย แม้ยังไม่เห็นแผนรับมือที่ชัดเจนในส่วนของภาครัฐ

แต่ในภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ อาจเป็นตัวแปรสำคัญด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการดูแลหรือรักษาความปลอดภัย โดรนส่งอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในคอนโดมิเนียม บริษัททำอาหารเด็กสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว รวมถึงการผลักดันแนวคิดดูแลแบบประคับประคอง ในกรณีที่ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากอาการของโรค หรือ บางประเทศที่ผ่านกฎหมายการุณยฆาต (Euthanasia) และการแช่แข็งร่างกาย (Cryonics) เนื่องจากการตายของแต่ละคนอาจมีความหมายที่แตกต่างกัน

ภาพจาก : www.chinadaily.com

ภาพจาก : www.chinadaily.com

ภาพจาก : www.chinadaily.com


การเป็นโสดไม่ใช่เรื่องผิด แต่อาจต้องยอมรับความจริง ว่าท้ายที่สุดเราอาจโดดเดี่ยว เหงา ขาดกำลังใจ นอกเสียจากว่า นโยบายภาครัฐ มีการวางรากฐานระบบสวัสดิการที่ดี ส่วนเราเอง ก็อาจต้องวางแผนการเงินตั้งแต่เริ่มต้นวัยทำงาน

ท้ายที่สุด คุณอาจได้เจอกับคู่ชีวิต ดูแลกันและกันอย่างไม่ลำบาก แต่หากต้องอยู่คนเดียว ก็จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตลอดช่วงอายุ

ทำให้การใช้ชีวิต "อยู่คนเดียว(ไม่)เหงา...(และมีรัฐ)เข้าใจ" พร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ไปด้วยกัน

 

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า : ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ชูใจ” หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุ

แรงงานขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ

ชีวิตดีๆ หลังวัย 60 ต้องมีเงินเก็บขั้นต่ำ 2 ล้านบาท

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง