สวนทางมาตรการแก้ฝุ่น PM 2.5 ชาวไร่อ้อยยอมรับจำต้องเผา

สิ่งแวดล้อม
25 ธ.ค. 62
13:49
2,971
Logo Thai PBS
สวนทางมาตรการแก้ฝุ่น PM 2.5 ชาวไร่อ้อยยอมรับจำต้องเผา
เกือบ 6 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่คาดว่า จะอนุญาตให้มีการเผา หลังมติ ครม.ให้ โรงงานรับซื้ออ้อยสดแทนอ้อยไฟไหม้ ปีแรก ลดเหลือ 50 : 50 ชาวไร่อ้อยนครสวรรค์ ยืนยัน มีข้อจำกัดด้านแรงงาน เครื่องจักรกล ปัญหาภัยแล้ง และภาวะราคาอ้อยตกต่ำ จึงต้องเลือกเผา

มากกว่าร้อยละ 60 ของหมอกควันและฝุ่น PM 2.5.จากการเผาในภาคเกษตร มาจากไร่อ้อย รัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 เดินหน้ามาตรการต่าง ๆ ตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 ทั้งการกำหนดจังหวัดต้นแบบปลอดเผา 100% ในแต่ละภูมิภาค การขยายสินเชื่อเครื่องจักรกล และมาตรการด้านกฎหมาย ด้วยการกำหนดโควตาให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยสดเพิ่มขึ้น

 

 

ฤดูหีบอ้อย ปีนี้ (2562/2563) ตั้งเป้าให้ทุกโรงงานรับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน และขยับลดลง ไม่เกินร้อยละ 20 ในปีการผลิต 2563 /2564 ก่อนจะให้ลดให้เหลือ ร้อยละ 0 - 5 ต่อวัน ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายในปี 2565

2 ใน 3 มาตรการตามมติ ครม. วันนั้น ถูกบรรจุไว้ใน “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระดับชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่เพิ่งผ่านมติ ครม.เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเหมือนเป็นตอกย้ำว่า รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาฝุ่นที่ต้นทางอย่างเต็มที่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใน จ.นครสวรรค์ แหล่งปลูกอ้อยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยประมาณ 8 แสนไร่ ดูเหมือนจะสวนทางกับความพยายามของรัฐบาล

 

 

เร่งตัดอ้อย ก่อนหยุดปีใหม่

จุดความร้อนที่รั้งอันดับต้น ๆ ของประเทศ และซากไร่อ้อยที่ถูกเผาหลายแห่งใน จ.นครสวรรค์ ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม ที่เป็นช่วงฤดูหีบอ้อย อาจเป็นคำตอบว่า สิ่งที่ภาครัฐพยายามรณรงค์ขอความร่วมมือ และกำหนดมาตรการในการลดการเผาในภาคเกษตร มีผลมากน้อยแค่ไหน

 

 ที่มา:Smoke Watch

 

คนงานไร่อ้อยที่ บ้านมะเกลือ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เร่งตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลให้ทันก่อนหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ เจ้าของไร่เลือกใช้วิธีการเผาและจ้างแรงงานตัด แม้จะรู้ว่า ต้องถูกหักงานจากโรงงาน 30 บาทต่อตัน เพื่อไปให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดตามระเบียบที่กำหนดไว้ แต่ก็ยอมแลกเพราะคุ้มกว่าการตัดอ้อยสด

 

 

เอนก สีสุก หัวหน้าโควต้าอ้อยในพื้นที่ ยอมรับว่า การเผาเป็นตัวการหนึ่งของปัญหาฝุ่นควัน ที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม แต่ด้วยข้อจำกัดด้านแรงงาน เครื่องจักรกล ปัญหาภัยแล้ง และภาวะราคาอ้อยตกต่ำ ทำให้ ชาวไร่อ้อยไม่มีทางเลือกมากนัก

ปีนี้ เจอแล้ง ถ้าเกิดไม่ให้เผานี่เจ๊งกันเลย ค่าแรงงานมันแพง ถ้าจะเอารถตัดมาก็เป็นของโรงงาน กว่าจะเอารถตัดโรงงานมาได้ คอยไปเหอะ กว่าจะมาตัดให้ แต่ชาวไร่เขาคอยไม่ไหว บางคนเป็นหนี้ ก็อยากตัดเพราะอยากได้เงินไปใช้หนี้

หลังหยุดยาวปีใหม่ มีแนวโน้มว่าการเผาไร่อ้อยจะยิ่งเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ เพราะยังมีโควต้าตกค้างอยู่อีกจำนวนมาก ทำให้จังหวัดนครสวรรค์และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเตรียมการรับมือกับฝุ่นควัน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งภายในจังหวัดและข้ามไปยังจังหวัดอื่น ๆ


ปภ.นครสวรรค์ ยอมรับต้องยืดหยุ่น

หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นครสวรรค์ ยอมรับว่า ยังไม่สามารถทำความเข้าใจให้เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาตัดอ้อยสดแทนการเผาได้ จึงต้องใช้มาตรการยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างวิถีการทำเกษตรกับการบังคับใช้กฎหมาย

 

 

ถ้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวก็คงต้องจับกันทั้งเมือง มีจังหวัดทางภาคเหนือบางแห่งมีรางวัลนำจับ ให้ผู้ใหญ่บ้านไปจับมาเลย แต่คนที่ไปนำจับก็จะอยู่ยาก แต่นครสวรรค์คงไม่ถึงขนาดนั้น ก็อะลุ่มอะหล่วยกันไป พูดข้อดีข้อเสียให้เขาฟังว่า ถ้าทำมันอาจจะไม่ยั่งยืน แต่ถ้าเรารักษาสิ่งแวดล้อม จะยั่งยืนมากกว่า

หัวหน้า ปภ.จังหวัดนครสวรรค์ ยืนยัน ที่ผ่านมา สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากค่าเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน มีเพียงวันที่ 13 ธันวาคมเท่านั้น ที่ค่าฝุ่นไปแตะระดับ 71 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

 

แต่เชื่อว่าหลังปีใหม่ สถานการณ์การเผาพื้นที่เกษตรจะมากขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางจังหวัดพร้อมรับมือ โดยจะพิจารณาใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาให้เกิดความคล่องตัวผ่านกลไกคณะกรรมการเชิงป้องกันยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดเล็ก ไม่ต้องรอให้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน เพราะปัญหาฝุ่นควันยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เมื่อเทียบกับปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม

 

คาดเผา 6 ล้านไร่ โจทย์ใหญ่ปัญหาฝุ่น

การเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และอีกหลายจังหวัดที่มีการปลูกอ้อย ด้านหนึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวคัดค้านของสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานต่อมาตรการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ที่กำหนดรับซื้ออ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้ในสัดส่วน 70 : 30 ต่อวัน

แต่หลังการเจรจากับเกษตรกรและโรงงาน ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 จึงมีมติให้ปรับสัดส่วนการรับซื้ออ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้ เป็น 50 : 50 โดยคงระเบียบเดิมเรื่องการหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตัน ไปให้กับคนที่ตัดอ้อยสด แต่ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ คือ โทษปรับในอัตรา 12 บาท/ตัน ในกรณีที่โรงงานที่ไม่ทำตามมติ

เช่น พอปิดหีบโรงงาน ก.รับซื้ออ้อย รวมทั้งหมด 2 ล้านตันอ้อย แต่ในจำนวนนี้เป็นอ้อยสดแค่ 5 แสนตัน ที่เหลือ 1.5 ล้านตันเป็นอ้อยไฟไหม้ กรณีนี้โรงงานจะต้องจ่ายค่าปรับอ้อยไฟไหม้ส่วนเกิน 5 แสนไร่ เป็นเงิน 6 ล้านบาท (5 แสนไร่X12 บาท) โดยเงินค่าปรับทั้งหมด จะนำไปเข้า “กองทุน” ที่ใช้สำหรับโครงการลดอ้อยไฟไหม้

ด้านนายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทรายแห่งประเทศ ยืนยันกับทีมข่าวว่า มาตรการนี้จะทำให้เห็นผลได้จริง เพราะตัวเลขรวมล่าสุดนับตั้งแต่วันเปิดหีบ 1 ธันวาคม จนถึง 22 ธันวาคม มีอ้อยสดที่โรงงานทั่วประเทศรับซื้อแล้ว 8.9 ล้านตัน มากกว่าอ้อยไฟไหม้ที่มี 7.4 ล้านตัน

 

 

 

แม้จะเห็นความพยายามของการลดการเผาอ้อยเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต้นทางอย่างชัดเจนขึ้น แต่ร้อยละ 50 ของอ้อยไฟไหม้ เมื่อคำนวณกลับเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่คาดว่า จะมีการเผาตามข้อมูลพื้นที่ปลูกอ้อยล่าสุด จะตกอยู่ราว ๆ 6 ล้านไร่

นี่จึงยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า ถึงวันนี้ มีมาตรการเฝ้าระวังและลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนจากฝุ่น ที่เกิดจากการอนุญาตให้เผาอ้อย แล้วหรือยัง และใครจะเป็นคนรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง