ที่สุดปี '62 "อลหม่าน" การเมืองไทย

การเมือง
29 ธ.ค. 62
08:29
2,678
Logo Thai PBS
ที่สุดปี '62 "อลหม่าน" การเมืองไทย
การเมืองปี ’62 ปีแรกหลังเลือกตั้ง เต็มไปด้วยมรสุมการเมืองเรื่องของทหาร ศาล และนักการเมือง ปมร้อนเหล่านี้จะยิ่งทำให้การเมืองร้อนแรงยิ่งขึ้นในปีหน้า

โฉมหน้าการเมือง ปี 2562 เป็นวิถีใหม่จากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับ 3 สถาบัน คือ ทหาร ศาล และนักการเมือง

1.การเมืองแห่ง “นักการเมือง”

  • ทษช. เสนอรายพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เป็นนายกฯ

การเมืองไทย ปี 2562 หนีไม่พ้นบ่วงวัฏของการเลือกตั้ง นับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ไม่นับรวมการเลือกตั้ง ปี 2557 ถือเป็นโมฆะ

การเลือกตั้งครั้งนี้ มีกติกาใหม่เป็นผลจากระบบสัดส่วนผสม (Mixed-Member System) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ปี 2560 ยังมีนวัตกรรมคือ “บัญชีนายกฯ” โดยพรรคการเมืองต้องเสนอชื่อนายกฯ 3 ชื่อ

กลไกนี้เองเป็นที่มาของการเสนอรายชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยพรรคที่ถูกจับตาคือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีแนวโน้มเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (เวลานั้น) เป็นแคนดิเดตนายกฯ และผลเป็นไปตามคาด พล.อ.ประยุทธ์ ตอบรับคำเชิญของพรรคพลังประชารัฐ

 

ขณะที่ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งแกนนำพรรคส่วนใหญ่มาจากพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอรายพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ กระทั่ง ทษช. ได้รับผลกระทบเชิงลบ กลายเป็นพรรคแรกหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค และสั่งเว้นวรรคทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

  • Mixed-Member (Error)

วันเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ประชาชนติดตามผลการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด แต่ไม่สามารถคาดผลการเลือกตั้งที่แม่นยำชัดเจน โดยเฉพาะ กกต. ที่ใช้เวลาตรวจสอบ เป็นผลมาจากระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเป็นครั้ง ซึ่งผลที่ผลการนำคะแนนมีการถกเถียงในวงกว้างถึงความสุจริตเที่ยงธรรม

ทั้งนี้ พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.พรรคเพื่อไทย 2.พรรคพลังประชารัฐ และ 3. พรรคอนาคตใหม่ ขณะที่คะแนนรวม (Popular Vote ) สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.พรรคพลังประชารัฐ 2.พรรคเพื่อไทย และ 3.พรรคอนาคตใหม่

ข้อสังเกตจากการนับคะแนน ถูก 2 พรรคใหญ่ ใช้เป็นข้ออ้างในการจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย ชิงจับมือ 7 พรรค ประกาศตั้งรัฐบาล และอ้างว่ามีความชอบธรรม เพราะมี ส.ส. สูงสุดในสภาฯ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ อ้างว่าได้รับคะแนนนิยมสูงสุดในประเทศจึงมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน

ตัวแปรชี้ขาดจึงขึ้นกับการตัดสินใจของพรรคการเมืองในลำดับถัดมา โดย อันดับ 3 พรรคอนาคตใหม่ เลือกร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ขณะที่ อันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ และ อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย เลือกร่วมงานกับรัฐบาล ดังปรากฎภาพแกนนำพรรคพลังประชารัฐแห่ขันหมากสู่ขอ 2 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

 

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ถูกกล่าวหาว่าไม่รักษาสัญญา เพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค (เวลานั้น) ประกาศไม่ร่วมงานกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อพรรคมีมติร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ จึงตัดสินใจลาออกจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่ยังเป็นสมาชิกพรรคและอยู่ในบัญชีนายกฯ

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ยืนยันว่าไม่เคยพูดว่าจะไม่ร่วมงานกับพล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และยืนยันว่าการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง

  • 250 ส.ว. แต้มต่อโหวตเลือก “ประยุทธ์” กลับทำเนียบ

เมื่อผ่านช่วงจัดตั้งรัฐบาล มิ.ย.-ก.ค. ที่ประชุมสภาฯ มีวาระเลือกนายกฯ โดยแคนดิเดตของฝ่ายรัฐบาล คือ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่ฝ่ายค้านเสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ขั้นตอนนี้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวิจารณ์อีกครั้ง เพราะเปิดโอกาสให้ 250 ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯ 250 ส.ว. จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลตามเงื่อนไขนี้

แต่สิ่งที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด คือที่มาของ ส.ว. เพราะมาจากการแต่งตั้งโดยคสช.ทั้งหมด และยังมี คสช. และรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 คัดเลือก คสช. และอดีตรัฐมนตรีเข้ามาเป็น ส.ว. ด้วย

  • นายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านขั้นตอนโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ถึงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแถลงนโยบายต่อสภาฯ วันที่ 25 ก.ค. 2562 จึงเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปรากฎตัวในที่ประชุมสภาฯ หลังเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 และการปรากฎตัวครั้งนี้กลายเป็นมรสุมลูกแรกของรัฐบาล เมื่อถูก นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน

 

ประเด็นนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกสภาฯ เปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ และถูก กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ มาชี้แจงไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบรับคำเชิญ กระทั่งจบลงด้วยการส่งเอกสารและตัวแทนเข้าชี้แจงกับ กมธ. ชุดดังกล่าว

นอกจากนี้ฝ่ายค้านยังยื่นศาลรัฐธรรมนูญปม พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน แต่ศาลไม่รับคำร้อง เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจที่จะวินิจฉัย

  • “สัปปายะสภาสถาน” และการกลับมาของ “งูเห่า”

ผ่าน 5 ปีรัฐบาล คสช. ประเทศไทยมีสมาชิกผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. และเป็น ส.ส.ชุดแรก ที่ได้เข้ามาทำงานในสภาฯ แห่งใหม่ เรียก “สัปปายะสภาสถาน” ที่ใช้เวลาก่อสร้างนานหลายปี (ปัจจุบันยังไม่เสร็จแต่เปิดใช้บางส่วน) บรรยากาศการกลับมาของ ส.ส. จึงคึกคัก

ทั้งภาพการโต้เถียงของ ส.ส. ตั้งแต่วาระแรกการตั้งประธานสภาฯ ไปจึงถึงการเชิญ นายธนาธร ออกจากที่ประชุมสภาฯ เพราะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในคดีหุ้นสื่อ

เมื่อพูดถึงสภาฯ ที่สุดแห่งปีจึงหนีไม่พ้นเรื่อง รัฐบาลผสม “เสียงปริ่มน้ำ” ที่เกือบทำรัฐบาลล่มแล้วหลายครั้ง ล่าสุดคือกรณีฝ่ายค้านเสนอตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม.44 ที่รัฐบาลโหวตแพ้ในยกแรก เพราะเสียงที่ว่า “ปริ่มน้ำ” ขาดหายไป และกลับมาแก้เกมใหม่

การแก้เกมรอบนี้ รัฐบาลถึงขั้นจัดโต๊ะจีนหูฉลามเลี้ยงแกนนำพรรคร่วม ผลออกมาพบว่ารัฐบาลเสียงไม่แตก และยังได้เสียงจากฝ่ายค้านเพิ่ม 10 รายชื่อ จำนวนนี้มี ส.ส. พรรคเพื่อไทย 3 คน ,พรรคอนาคตใหม่ 2 คน , พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน และพรรคประชาชาติ 1 คน

ก่อนหน้านี้พรรคอนาคตใหม่ เคยตรวจสอบ ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรคแล้ว 4 คน และมีมติขับ "4 ส.ส. งูเห่าพ้นพรรค" กลายเป็นโอกาสของพรรคฝ่ายรัฐบาลที่จะได้เสียง ส.ส. เพิ่มด้วย

  • “ธนาธร” และพรรคอนาคตใหม่

นายธนาธร ถูกจับตาตั้งแต่ลงเลือกตั้ง เป็นพรรคใหม่ชูแนวคิด ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. และเป็นพรรค “ม้ามืด” ที่ได้ ส.ส. เป็นอันดับ 3 ถือว่าเกินความคาดหมาย

นายธนาธร ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ จากฝ่ายค้าน สู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่การเล่นการเมืองสมัยแรก โดยผู้กล่าวเสนอชื่อในที่ประชุมสภาฯ คือ นางศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งภายหลังถูกขับออกจากพรรคในกลุ่ม 4 งูเห่า เพราะโหวตสวนมติพรรคถึง 2 ครั้ง

 

ไม่ถึง 1 ปี นายธนาธร ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมาก โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายธนาธร พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ในวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ต่อมานายธนาธร ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในสภาฯ และประกาศเดินหน้าสู่การเมืองภาคประชาชนเต็มตัว

การชุมนุมครั้งแรก คือ วันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา เป็นการชุมนุมรูปแบบแฟลซม็อบสกายวอล์ก-ปทุมวัน ระหว่างที่ กกต. กำลังยื่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ในคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ โต้ตอบว่า นายธนาธร ไม่ควรนำประชาชนมาเคลื่อนไหวในเรื่องตนเอง

2.ศาล

9 เดือนหลังการเลือกตั้ง การเมืองไทยเต็มไปด้วยคดี “นักการเมือง” ทั้งที่เกี่ยวกับกลไกทางการเมืองโดยตรง และคดีของบุคคลทางการเมืองจำนวนมาก และมีคดีที่ถือเป็นคดีแห่งปี ดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีหุ้นสื่อฯ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีหุ้นสื่อฯ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีหุ้นสื่อฯ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

   

คดีหุ้นสื่อฯ ของนายธนาธร เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นายธนาธรถูกสั่งพ้นตำแหน่ง ส.ส. และพรรคอนาคตใหม่ยังต้องเผชิญกับคดียุบพรรคที่ กกต. ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
คดียาเสพติด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เป็นคดีค้างเก่า เคยถูกสั่งจำคุกในศาลออสเตรเลีย ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณสมบัติรัฐมนตรี และยังถูกขุดคุ้ยประเด็นวุฒิการศึกษา ป.เอก ซึ่งพบว่ามหาวิทยาลัยที่รับรองไม่ได้มาตรฐาน
คดีที่ดินฟาร์มไก่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ถูกกรมป่าไม้ฟ้องดำเนินคดีรุกป่า ขณะที่ ส.ป.ก. สั่งคืนที่ดิน แต่ไม่ดำเนินคดีทางอาญา
• คดีฆาตกรรม โดยนายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ถูกศาลชั้นต้นจำคุกคดีฆาตกรรมนักการเมืองท้องถิ่น โดยไม่ให้ประกันตัว เป็นผลให้พ้นจาก ส.ส. และมีการเลือกตั้งซ่อม เขต 7 จ.ขอนแก่น วันที่ 22 ธ.ค.นี้

3.ทหาร 

“ทหาร” สู่ “นักการเมือง”

ตลอด 5 ปี คสช. ภาพลักษณ์ “3 ป.” บูรพาพยัคฆ์ หนีไม่พ้นภาพ “ทหาร” เข้ามาจากการรัฐประหาร รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2557

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นการเปลี่ยนสถานะอย่างเป็นทางการ จากหัวหน้าคสช. สู่ตำแหน่งนายกฯ หรือเรียกว่า “นักการเมืองเต็มตัว” ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รับตำแหน่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชาชารัฐอย่างเป็นทางการ มีอำนาจเต็มในการบริหารพรรคและเล่นการเมืองอย่างเปิดเผย

 

บทบาทเด่นในฐานะทหารอาชีพ คือ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ออกมาพูดประเด็นทางการเมืองแบบตรงไปตรงมา ทั้งประเด็นเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารและประเด็นเกี่ยวกับสถาบัน

• 1   ต.ค. 2561 พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์ครั้งแรก ฐานะ ผบ.ทบ.
                        “ไม่ยืนยันไม่รัฐประหาร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์”
• 18 ก.พ. 2562 พล.อ.อภิรัชต์ มอบเพลง “หนักแผ่นดิน”
                        ให้กับนัการเมืองที่เสนอตัดงบฯ กองทัพ และปฏิรูปกองทัพ
• 2 เม.ย. 2562  พล.อ.อภิรัชต์ ผุดวาทกรรม “ซ้ายจัดดัดจริต”
                        ซึ่งถูกเชื่อมโยงไปยังพฤติกรรมของนักการเมืองพรรคหนึ่ง
• 11 ต.ค. 2562 ผบ.ทบ. บรรยายพิเศษ “แผ่นดินของเราฯ”
                        พูดถึงการต่อสู้กับภัยคุกคามแบบ “ไฮบริดจ์”
                        และโจมตีนักการเมืองบางกลุ่ม รวมถึงใช้วาทกรรมรุนแรงหลายถ้อยคำ

การเมืองปี 2562 เป็นเพียงก้าวแรกรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลเปลี่ยนผ่านจาก รัฐบาล คสช. สู่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2

ปี 2563 ยังมีมรสุมใหญ่ทั้งประเทศไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่นับรวมการเมืองนอกสภาฯ อย่างการเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ที่เลือกใช้การเมืองภาคประชาชนเต็มตัว

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง