"คมนาคม" เตรียมออกกฎหมาย วิ่งต่ำกว่า 90 กม./ชม.ห้ามวิ่งเลนขวา

เศรษฐกิจ
13 ม.ค. 63
16:54
16,228
Logo Thai PBS
"คมนาคม" เตรียมออกกฎหมาย วิ่งต่ำกว่า 90 กม./ชม.ห้ามวิ่งเลนขวา
รมว.คมนาคมระบุ ห้ามรถเลนขวา วิ่งต่ำกว่า 90 กม.ต่อชั่วโมง คาดมีผลบังคับใช้ ก.พ.นี้ ขณะที่ข้อมูลกรมทางหลวงระบุ รถใช้ความเร็วเลนขวาไม่เหมาะสม เพราะมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนท้ายสูง

วันนี้ (13 ม.ค.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายการขยายอัตราความเร็วบนถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไป สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ว่า ล่าสุด เตรียมประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณานโยบายดังกล่าวภายในเดือนนี้ พร้อมทั้งรอผลการทดสอบแผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีต เพื่อเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัย ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ในเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนการพิจารณาบังคับให้ผู้ที่ขับรถในอัตราความเร็วไม่ถึง 90 กม./ชม. ห้ามใช้ช่องจราจรทางด้านขวาสุด ในเส้นทางที่มี 4 ช่องจราจรขึ้นไป ที่กำหนดให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กม./ชม.ทั่วประเทศ โดยพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายจราจร และกฎหมายทางหลวง ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในช่วงเดือน ก.พ.จากนั้นจะออกประกาศกฎกระทรวง ภายใต้ พ.ร.บ.จราจร และมีผลบังคับใช้ต่อไป

ขณะที่บทลงโทษ กรณีหากผู้ที่ขับรถในช่องจราจรขวาสุด ด้วยความเร็วต่ำกว่า 90 กม./ชม. จะใช้บทลงโทษเดียวกันกับผู้ที่ขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการตัดคะแนนใบขับขี่ด้วย พร้อมยืนยันว่าการออกประกาศฯ ดังกล่าว ได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจร โดยหลังจากนี้ ต้องออกประกาศกฎกระทรวงรองรับการใช้ความเร็วดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ทางหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.

ข้อมูลจาก กรมทางหลวงที่ระบุถึงความจำเป็นในการกำหนดความเร็วของรถที่วิ่งเลนขวาต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 90 กม./ชม.นั้น เนื่องจากการกำหนดความเร็วแต่ละช่องจราจรขวาสุดเป็นช่องทางที่ให้รถใช้ความเร็วได้สูงสุด และจะให้รถที่วิ่งช้ากว่าอยู่ในช่องทางอื่น ๆ ทางด้านซ้าย โดยกำหนดความเร็วลดหลั่นลงมาตามลำดับ การกำหนดลักษณะนี้จะช่วยให้รถที่วิ่งช้าไม่ทำให้ความเร็วเฉลี่ยของการจราจรในภาพรวมของถนนลดลงมากนัก นอกจากนี้ วิธีการนี้จะสามารถช่วยลดการเปลี่ยนช่องจราจรที่ไม่จำเป็นลงได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการเฉี่ยวชนและการแซงในระยะกระชั้นชิดได้

นอกจากนี้ การกำหนด ช่วงความเร็วแต่ละช่องจราจรเป็นช่วงสูงสุดต่ำสุดจะช่วยทำให้เกิดความแตกต่างของความเร็วแต่ละช่องทางน้อยลงลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุชนท้ายจากความเร็วที่แตกต่าง และการเปลี่ยนช่องจราจร ซึ่งเป็นสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุที่สูงเป็นลำดับที่ 2 ประมาณร้อยละ 30 หรือปีละประมาณ 5,000 ครั้ง จากทุกลักษณะ โดยลำดับที่ 1 คือ การเสียหลักตกข้างทางหรือเฉลี่ยร้อยละ 45

ข่าวที่เกี่ยวข้อง