ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สายด่วน 1422 ไขข้อสงสัย - แจ้งเหตุผู้เสี่ยงป่วย COVID-19

สังคม
15:56
34,049
สายด่วน 1422 ไขข้อสงสัย - แจ้งเหตุผู้เสี่ยงป่วย COVID-19
กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับสายด่วน 1422 ไขข้อสงสัย ประสานโรงพยาบาล พร้อมรับแจ้งเหตุผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ส่งรถพยาบาลไปรับถึงบ้านทันที

วันนี้ (3 ก.พ.2563) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่า ความประสงค์ในการให้บริการสายด่วนนี้มีอยู่ 3 ประเด็น คือ การตอบคำถามและข้อสงสัยของประชาชน การประสานงานโรงพยาบาล และการแจ้งเหตุผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ทราบได้ว่า ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับ COVID-19 อย่างไร และมีเสียงสะท้อนอะไรบ้าง สิ่งสำคัญในการให้บริการคือไขข้อสงสัย และให้ความสบายใจกับประชาชนที่ไม่เข้าเกณฑ์ แต่หากเข้าเกณฑ์ก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับทันที

ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อในที่สาธารณะ

สำหรับกรณีการแจ้งเหตุผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ป่วยนั้น หากโทรมาแจ้งผ่านสายด่วน 1422 ทางกระทรวงสาธารณสุข จะประสานรถพยาบาลเพื่อไปรับผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ถึงที่พัก เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อของผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ป่วย

หากเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 แล้วเดินทางไปรักษาหรือไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลด้วยตนเอง อาจมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะการขึ้นรถสาธารณะ การให้บริการรับผู้มีความเสี่ยงจึงเริ่มขึ้นเพื่อลดการแพร่เชื้อ


รถพยาบาลให้บริการนั้นในส่วนของ กทม.ได้มีการจัดเตรียมรถไว้และประสานโรงพยาบาลที่มีความพร้อมแล้ว ส่วนในต่างจังหวัดได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลประจำอำเภอให้เตรียมพร้อมในการให้บริการ โดยหากมีการประสานว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ป่วยเจ้าหน้าที่เองก็ต้องเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์การแพทย์และชุดที่สวมใส่ก็ต้องได้มาตรฐาน PPE 

หากเป็นผู้ป่วยหนักที่หายใจเร็ว หอบเหนื่อย มีอาการช็อก ก็ต้องใช้รถพยาบาลระดับสูงของสถาบันบำราศนราดูร เพื่อเข้าไปรับทันที พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หากรู้สึกว่าตัวเองมีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์หรือปรึกษากับสายด่วย 1422 แล้วพบว่ามีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ควรกักตัวไม่สัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด ไม่รับประทานอาหารหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เพื่อไม่ให้สารคัดหลั่งไปแพร่เชื้อกับคนใกล้ชิด และรอรถพยาบาลมารับที่บ้าน 

ต้องบอกว่าเมื่อพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 แล้ว 1 คน ทีมแพทย์จะต้องติดตามผู้มีสัมผัสใกล้ชิดอีก 20-40 คน ดังนั้น หากรู้ตัวว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ควรดูแลตัวเองเพื่อคนใกล้ชิด


เมื่อวานเพิ่งเริ่มมีการให้บริการสำหรับแจ้งเหตุผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์โดยให้มีบริการรถรับที่บ้านพัก แต่คาดว่าหากในอนาคตประชาชนเข้าใจหลักเกณฑ์ก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ได้เพิ่มมากขึ้น

คำถามยอดฮิต 1422

นพ.รุ่งเรือง ระบุว่า สำหรับคำถามยอดฮิตของสายด่วน 1422 คือ "ที่จังหวัดนี้ มีผู้ป่วยจริงไหม" ซึ่งทำให้เห็นว่าประชาชนติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) อย่างใกล้ชิด  และต้องยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการปิดบังข้อมูลผู้ติดเชื้อ แต่ในขณะนี้ประเทศไทยมีผู้เฝ้าระวังโรคเนื่องจากเข้าเกณฑ์ติดเชื้ออยู่กว่า 3,000 คน โดยการคัดกรองจากทั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง ในโรงพยาบาล และระดับชุมชน ซึ่งสายด่วน 1422 เป็นหนึ่งในช่องทางการคัดกรองจากชุมชนที่เป็นการช่วยเหลือกันของบุคคลใกล้ชิด


ที่ผ่านมาการให้บริการสายด่วน 1422 มีผู้แจ้งเหตุเข้ามาและพบผู้มีความเสี่ยงเฝ้าระวังโรคอยู่จำนวนหนึ่ง โดยเมื่อแจ้งเหตุเข้ามา กระทรวงสาธารสุขจะส่งเจ้าหน้าลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ หากพบผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคลงพื้นที่ ก่อนนำส่งโรงพยาบาลทันที

วอนอย่ารังเกียจแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้

ส่วนกรณีข่าวที่มีการนำเสนอว่าแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ต้องการเข้ามาในไทยจำนวน 5,000 คนนั้น หากมีผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ก็สามารถแจ้งเข้ามาที่สายด่วน 1422 ได้ แต่ขอให้ประชาชนอย่ารังเกียจบุคลเหล่านั้น และคิดว่าทุกคนจะเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เนื่องจากกระบวนการคัดกรองที่เข้มงวด ตั้งแต่ประเทศเกาหลีใต้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานไปยังทางการเกาหลีใต้ หากพบผู้มีอาการป่วย หรือผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ก็ให้กักตัวไว้ที่เกาหลีใต้ 


ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการป่วยและไม่เข้าเกณฑ์ก็ให้เดินทางโดยแบ่งโซนที่นั่งให้ชัดเจน เมื่อมาถึงประเทศไทยก็จะมีเจ้าหน้าที่คัดกรองที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอีกครั้ง ก่อนจะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวให้บุคคลเหล่านั้นปฏิบัติตาม ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การกักตัว 14 วัน เมื่อมีอาการป่วย และให้เจ้าหน้าที่แจ้งให้ชัดเจนว่าปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุม กักตัว หากฝ่าฝืนจะมีโทษต่ำสุดปรับ 20,000 บาท หรือสุดสุด 500,000 บาท 

เตรียมพัฒนาแอปพลิเคชัน ตอบข้อสงสัยประชาชน

ทั้งนี้ ปัจจุบันสายด่วน 1422 มีทั้งหมด 30 คู่สาย โดยได้ให้บริการตอบคำถามและรับแจ้งเหตุวันละกว่า 1,000 สาย  คาดว่าในเร็วๆ นี้อาจมีการเพิ่มจำนวนคู่สาย ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อรองรับการให้บริการประชาชนให้ได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นและสามารถตอบคำถามประชาชนได้รวดเร็วและตรงจุดมากยิ่งขึ้น 

เบื้องต้น หากพบผู้ป่วยอาการหนัก และมีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) สามารถโทรแจ้งสายด่วน 1669 ได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยต้องแจ้งประวัติการเดินทาง รวมถึงอาการป่วยที่เข้าเกณฑ์ให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย โดยทาง 1669 จะประสานมายังกระทรวงสาธารสุขเพื่อจัดเตรียมรถพยาบาลที่มีอุปกรณ์ และทีมแพทย์ที่สวมชุดตามมาตรฐานไปรับตัวนำมารักษาต่อไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สายไหม้! 1,300 คนแห่โทรปรึกษา COVID-19

สธ.เตรียมแผนรองรับแรงงานผิดกฎหมาย กลับไทยย้ำมาตรการคัดกรองเข้ม

สตม.เผยแรงงานไทยจากเกาหลีใต้ กลับถึงไทยแล้ว 7 คน