วันนี้ (19 มี.ค.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เชิญผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ในหลากหลายสาขา ร่วมหารือสถานการณ์ COVID-19 โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการป้องกันในระยะแรกที่ดีมาก แต่แม้จะป้องกันได้ดี ก็ยังมีคนป่วยมากขึ้น เพราะสถานการณ์ทั่วโลกเดินไปในทิศทางเดียวกัน ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องพร้อมตั้งรับที่จะรักษาผู้ป่วย แต่ฝ่ายที่สำคัญที่สุดคือประชาชน หากทุกคนร่วมมือกัน มีวินัย ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี ก็ป้องกันคนอื่นได้ด้วย
ส่วน ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ อดีตคณะบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ในช่วงแรกสถานการณ์ในประเทศไทยมีคนป่วยไม่ถึง 100 คน เสียชีวิต 1 คน ถือว่าทำได้ดีมาก แต่เมื่อสัปดาห์หลังๆ เริ่มมีคนไข้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นเพราะบางคนมีเชื้อแล้วไม่ทราบว่าป่วย แต่ไปแพร่เชื้อต่อไป ไม่ยอมกักตัว ดังนั้น ที่รัฐบาลบอกว่า ไม่ควรชุมนุมกันเกิน 50 คนขึ้นไป ก็เพื่อลดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อลง

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
มีการศึกษาพบว่า สถานการณ์ในประเทศจีน ก่อนที่รัฐบาลจะใช้มาตรการเข้มข้น มีผู้แพร่เชื้อโดยไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อประมาณ 6 เท่า หมายความว่า ในไทยมีผู้ป่วย 212 คน ที่ยืนยันติดเชื้อ แต่ยังมีคนอื่นๆ ที่ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้ออยู่อีกประมาณ 6 เท่า เมื่อลองคำนวณก็ประมาณ 1,200 คน คนกลุ่มนี้คือคนที่แพร่เชื้อแต่ยังไม่รู้ตัว ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลการศึกษาอย่างจริงจัง จึงขอร้องให้ทุกคนให้กักตัวหากรู้ว่ามีความเสี่ยง
เมื่อประเทศจีนมีมาตรการที่เข้มข้นแล้ว ทำให้คนที่แพร่เชื้อโดยไม่รู้ว่ามีเชื้อเหลือเพียง 1.5 เท่าของคนมีเชื่อเท่านั้น หมายความว่า ขณะนี้ไทยมีมาตรการเข้มข้นขึ้นแล้ว จากคนป่วย 212 คน จะมีคนที่ไม่รู้ว่ามีเชื่ออีกเหลือ 100 คน เท่านั้น
ขอให้ทุกคนอย่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายของตัวเอง บุคลากรทางการแพทย์สู้เต็มที่ เพื่อพยุงให้คนป่วยเหลือ 200 กว่าคน แต่ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือกันก็จะเข้าระยะ 3 เร็วๆ นี้ แต่เรายังมีโอกาสที่จะไม่เข้าระยะ 3
แนะ 3 แนวทางสู้โรคระบาด ไทยหน่วงโรคสู้ COVID-19
ขณะที่ นพ.ไพจิตร วราชิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เมื่อมีโรคระบาด ทิศทางในการควบคุมโรคระบาดมี 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ปล่อยให้ระบาด 2.หน่วงโรค 3.ปิดประเทศ ขณะนี้ทิศทางของ สธ.คือการหน่วงโรค ใกล้ๆ จะปิดเมือง เหมือนการสร้างฝายน้ำ ให้น้ำค่อยๆ ผ่านไป ไม่ใช่ลงมาครั้งเดียวแล้วบ้านเรือนเสียหายหมด
ทิศทางนี้ผมเชื่อว่าถูกต้องที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับประสบการณ์จากการต่อสู้กับซาร์ส หรือโรคอื่นๆ แต่ทิศทางที่กล่าวมานี้อาจเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ซึ่งต้องหารือกันทุก 2 สัปดาห์ ไม่มีใครต่อสู้กับโรคระบาดด้วยทิศทางใดทิศทางเดียวได้

สำหรับตัวเลขของผู้ป่วยในประเทศจีนจะเห็นได้ชัดว่า ผู้เสียชีวิตอายุเกิน 55 ปีทั้งหมด กลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุก็ขอให้อยู่บ้าน
ถามว่าต้องอยู่บ้านนานเท่าไหร่ คลื่นลูกแรกจากจีนผ่านไปแล้ว คลื่นลูกที่สองมาจากยุโรป ผมเชื่อว่ารออีก 2-3 เดือน อดทนอีกหน่อยเดี๋ยวก็คงจะจบ
ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนดูแลตัวเอง มี Social distance ให้คนมีความเสี่ยงหยุดการเคลื่อนไหวมากที่สุด เพื่อรอยา โดยไข้หวัดใหญ่ไทยชนะได้เมื่อมียา ขณะนั้นองค์การเภสัชกรรมต้องขอวัตถุดิบจากอินเดีย 2-3 เดือนก็จบหมด ส่วนวัตถุดับของยาสู้ COVID-19 นี้อยู่ที่จีน ซึ่งรัฐบาลได้ประสานแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมผลิตต่อไป
รับเชื้อตรวจทันที ผลเป็นลบ แต่ยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การต่อสู้กับโรคระบาด เมื่อมีมาตรการแบบนี้แล้ว จะสามารถควบคุมทุกอย่างได้จนหมด ดังนั้น การบริหารจัดการตามสถานการณ์จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเดินไปอย่างถูกต้องถูกทาง ส่วนการตรวจห้องปฏิบัติการ ต้องเข้าใจข้อจำกัดว่า เมื่อตรวจเชื้อ กว่าเชื้อจะขึ้นจนมีปริมาณพอให้ตรวจต้องใช้เวลา
วันที่รับเชื้อวันแรกกับวันที่ตรวจเจอต้องใช้เวลา ในขณะนี้สถิติอยู่ที่ประมาณ 5 วัน ดังนั้น คนที่ได้รับเชื้อวันนี้แล้วไปตรวจทันที เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเชื้อ แล้วเมื่อออกไปข้างนอกก็สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สังคมต้องเข้าใจ ประชาชนต้องเข้าใจ วันนี้ใน 100 คน มีคนติดเชื้อแล้วมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยจากจำนวนกว่า 200 คน มีอาการหนักเพียง 3 คน
จริงๆ เป็นอะไรที่ไม่น่ากลัวมาก แต่เราก็ไม่อยากให้ยอดผู้ป่วยสูงขึ้นมารวดเร็ว เพราะหากขึ้นมาเร็วแล้วจัดการไม่ทัน อัตราการเสียชีวิตก็อาจจะสูงกว่านี้ ยืนยันว่า วันนี้ยา อุปกรณ์ เตียงเพียงพอแน่นอน
อิตาลียอดป่วยพุ่ง COVID-119 เจาะโจมตีผู้สูงอายุ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า การต่อสู้กับไวรัส ไม่ใช่เรื่องที่จะจบได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ แต่ที่ทุกคนกำลังพยายามอยู่ทุกวันนี้ คือ การพยายามทำให้มีผู้ป่วยน้อยที่สุด เพื่อรอยา และวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงของโรคลงได้
โรคนี้เป็นโรคที่ทุกคนกลัวตั้งแต่เริ่มต้น แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้ป่วยโรคนี้ ร้อยละ 80 มีอาการน้อยมาก เดินได้สบาย มีเพียงส่วนน้อยร้อยละ 20 ที่มีความจำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล และมีเพียงร้อยละ 4 ที่ต้องรักษาตัวในห้องไอซียู แต่ทุกคนที่รู้ว่าติดเชื้อจะขอนอนโรงพยาบาลกันหมด เพราะกลัวจะไปติดคนอื่น
ในอนาคตหากทุกคนรู้ธรรมชาติของโรค สถานการณ์ก็จะดีขึ้น ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าอาจเอายาไปกิน แล้วรักษาตัวที่บ้าน เพื่อให้โรงพยาบาลได้ดูแลคนป่วยที่มีอาการหนักหรือภาวะวิกฤต
ขณะนี้ รัฐบาลได้พยายามติดต่อจีนและญี่ปุ่น เพื่อหายามาให้ได้อย่างเพียงพอ ถึงแม้ว่าการต่อสู้กับโรคนี้จะใช้เวลายาวนานพอสมควร แต่การต่อสู้ทุกครั้งต้องอาศัยความร่วมมือจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนให้ดูแลรักษาสุขภาพและป้องกันตัวเอง

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ยังระบุว่า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตมีมาก ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรกที่ต้องรักษาในไอซียู คือกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มมีโรคประจำตัว ดังนั้น หากในอนาคตมีผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแพทย์ก็จะต้องให้ยาทันทีเพื่อรักษาตั้งแต่ต้น แต่สำหรับกลุ่มวัยรุ่นที่มีสุขภาพแข็งแรงก็จะรักษาตามอาการ ด้วยยาธรรมดา เพราะโอกาสที่จะป่วยถึงปอดบวมนั้นน้อยมาก เมื่อพิจารณาจากตัวเลขผู้ป่วยทั้งในจีนและอิตาลี
อิตาลีที่มีตัวเลขสูงเพราะเป็นสังคมผู้สูงอายุ อิตาลีมีผู้สูงอายุประมาณ 20% ทำให้มีการระบาดในผู้สูงอายุ ตัวเลขการสูญเสียในอิตาลีจึงเยอะมาก
ทั้งนี้ ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีผู้เสียชีวิตน้อยมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กวัยรุ่นจะไม่มีโอกาสติดไวรัส COVID-19 ได้เหมือนกับผู้ใหญ่ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะติดไวรัสได้เท่ากันเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน ดังนั้นทุกคนจึงต้องดูแลและป้องกันตัวเองให้ดี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สธ.-กลาโหม" ถกแผนรับมือ COVID-19 เลวร้ายสุดป่วย 5,000 คน
ด่วน! วันเดียวป่วย COVID-19 อีก 60 คน "นักข่าว" รอยืนยัน
"นายกรัฐมนตรี" ชี้อำนาจผู้ว่าฯ แก้โรคระบาด เมินทำงานขู่ย้าย
แท็กที่เกี่ยวข้อง: