วันนี้ (27 พ.ค.2563) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 1ล้านล้านบาท โดยระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ซึ่งการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวมีความจำเป็นในการช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูด้วยวงเงิน 1 ล้านล้านบาท แต่ก่อนการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ข้ามขั้นตอนไปหลายขั้นตอน โดยเฉพาะรายละเอียดและการสำรวจงบประมาณที่มีอยู่ และการกู้เงินที่กู้จำนวนมากเกินไปมีวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่ เพราะยังไม่มีรายละเอียดและเปิดให้กรอบการกู้เงินยาวไปจนถึงช่วงเดือน ก.ย. 64รวมถึงการไม่ชะลอโครงการที่ไม่จำเป็นเช่น การจัดซื้ออาวุธ เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หรือ การชะลอโครงการในบประมาณปี 2563 และการปรับงบประมาณปี 2564 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้มาตรการปิดประเทศหรือ ล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ค่อนข้างได้ผล แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรง รัฐบาลมีหน้าที่ในการเยียวยา ซึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป้นมาก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมถึงการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งก็คือ ยาแรง และเมื่อสถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติก็ยังไม่ยกเลิกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายแต่กลับต่อไปจนถึงเดือน มิ.ย.นี้ ขณะที่เครื่องมือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4 ด้าน ก็ไม่ดีนัก ทั้ง 1.การส่งออก การท่องเที่ยว 3.การลงทุน และการบริโภคภายในประเทสที่ลดลง ซึ่งทั้ง 4 ด้านมีแนวโน้มติดลบขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นซึ่งล้วนมาจากเงินกู้ทั้งสิ้น
ขณะที่การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้เหลือเพดานการก่อหนี้สาธารณะได้ไม่เกิน 1.5 ล้านล้านบาท ดังนั้นวงเงินกู้ดังกล่าวจึงถือเป็นเงินหน้าตักก้อนสุดท้ายของประเทศ ในการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจให้สำเร็จ รวมถึงการกู้เงินเพื่อชดเชยการขดดุลงบประมาณปี 64 อีก ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 55 จากเพดานที่ไม่ควรเกินร้อยละ 60 หากฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่สำเร็จก็จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีพีดีเพิ่มขึ้นและจะเหลือไปยังคนรุ่นหลัง
ทั้งนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลต้องการให้ฝ่ายค้านเห็นด้วยต้องทำอย่างน้อย 3 เงื่อนไข คือ 1.สนับสนุนให้ตัวแทนประชาชนหรือ ส.ส.มีโอกาสตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว ภายใต้กลไกกรรมาธิการวิสามัญ 2.รายงานให้สภาฯรับทราบทุก 3 เดือน และ เปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์