"อุตตม" แจงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ดำเนินการรัดกุม | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส

"อุตตม" แจงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ดำเนินการรัดกุม

การเมือง
27 พ.ค. 63
17:12
599
Logo Thai PBS
"อุตตม" แจงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ดำเนินการรัดกุม
รมว.คลัง ย้ำ ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 1.9 ล้านล้านบาท เหตุกฎหมายอีก 2 ฉบับเป็นการใช้สภาพคล่องโดย ธปท.ไม่ใช่การกู้เงิน ย้ำกรอบดำเนินการรัดกุมดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการคลังฯและ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ รายงานผลทุก 3 เดือน

วันนี้ (27 พ.ค.2563) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงการตรา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ ย้ำครั้งนี้กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทไม่ใช่ 1.9 ล้านล้านบาท เนื่องจาก พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับไม่ใช่การกู้เงินโดยเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะใช้สภาพคล่องที่มีอยู่แล้วมาใช้ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากไวรัส COVID-19

ภาวะเศรษฐกิจมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า ออกมาตรการตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วเพื่อไม่ไม่ให้เกิดผลกระทบมาก ขณะที่เมื่อมีไวรัส COVID-19 ได้รับผลกระทบในไตรมาสแรก ประเทศอื่นก็ได้รับผลกระทบเช่น จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป้าหมายของรัฐบาล คือ 1.การดูแลเยียวยาผลกระทบเฉียบพลันที่เกิดขึ้น โดยเงินในกระเป๋าจำเป็นต้องให้ทันที การดูแลผู้ประกอบการรายเล็ก-รายกลาง เพื่อไม่ให้ขาดสภาพคล่องเพราะกระทบการจ้างงาน และ 3.การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

"เป้าหมายของรัฐบาลคือต้องการป้องกันวิกฤตสาธารณสุขไม่ให้ไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่แก้ไขยาก ซึ่งต้องใช้งบประมาณ ก็คือ พ.ร.ก.ที่เสนอเข้าสู่สภาฯ จากเป้าหมายที่มีแนวทางที่รัฐบาลกำหนดนโยบายและมาตรการนั้นได้ใช้กันทั่วโลก โดยไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลกได้เสนอแนวทางเชิงนโยบายให้กับประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจใหม่ให้ช่วยประชาชนกลุ่มเปราะบางก่อน และใช้มาตรการการเงินการคลังในวงกว้าง และเตรียมตัวในการฟื้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป "

นายอุตตม ขณะที่งบประมาณต้องใช้ให้คุ้มค่าซึ่งรัฐบาลได้พิจารณาแหล่งเงินทั้งหมดและ พ.ร.ก.การกู้เงินเป็นทางเลือกสุดท้ายอย่างแท้จริง และมีกรอบการดำเนินงานที่รัดกุม โดยเฉพาะ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ซึ่งมีหน่วยงานกำกับและติดตามทุก 3 เดือน การประเมินใช้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (สบน.) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินการควบคู่กันและรายงานการใช้จ่ายต่อสภาฯ

นอกจากนี้ ยังดำนินการตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งนำมาใช้อย่างเต็มที่ และนำส่งเงินกู้ที่เหลือคืนสู่กระทรวงการคลัง โดยการบริหารหนี้สาธารณะอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ 4 ตัวชี้วัด คือ 1.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 57.96 ตามกรอบกฎหมายที่ไม่ควรเกินร้อยละ 60 2.สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้อยู่ที่ ร้อยละ 21.2 ตามกรอบกฎหมายไม่ควรเกินร้อยละ 35 3.สัดส่วนหนี้สาธารณะเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด 2.53 ตามกรอบกฎหมายไม่ควรเกินร้อยละ 10 และ 4.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.19 ตามกรอบกฎหมายไม่ควรเกินร้อยละ 5

นายอุตตม ยังกล่าวว่า ขณะที่การเยียวยาประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ประเด็นหลักคือ เหตุที่เกิดขึ้นค่อนข้างเฉียบพลัน 2.การแก้ไขปัญหาล่าช้ายอมรับว่าล่าช้าแต่การใช้งบประมาณแผ่นดินต้องมีความรัดกุม และข้อมูลที่ใช้นั้นไม่มีความพร้อมมากนักในการดำเนินการเช่น อาชีพอิสระ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องเปิดให้ลงทะเบียน และการจ่ายให้กับทุกคนก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณซึ่งพยายามให้ครอบคลุมมากที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง