THE EXIT คดีบุกรุกที่ดินอ่าวนาง ตอนที่ 1

สิ่งแวดล้อม
26 มิ.ย. 63
20:16
2,541
Logo Thai PBS
THE EXIT คดีบุกรุกที่ดินอ่าวนาง ตอนที่ 1
ตลอดสัปดาห์นี้ ดีเอสไอทยอยเรียกเอกชน 23 คน มารับทราบข้อกล่าวหา กรณีสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง-หางนาค จ.กระบี่ หลังพบว่าบุคคลเหล่านี้ มีความเชื่อมโยงกับการออกโฉนดทับที่ป่าสงวนแห่งชาติ กว่า 200 ไร่

กรณีสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง-หางนาค จ.กระบี่ คดีดังกล่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 5 คน เมื่อปี 2560 แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกตคือจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีการเพิกถอนโฉนดทั้ง 39 แปลง

 

ความคืบหน้าล่าสุดในรอบ 10 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรียกบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าข่ายสนันสนุนเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตออกโฉนดที่ดินทับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง-หางนาค จ.กระบี่ เข้ารับฟังข้อกล่าวหาความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 151 ทั้งหมด 23 คน

ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่งปฏิเสธการให้สัมภาษณ์โดยมีเพียงข้อมูลเบื้องต้นว่า เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินจำนวน 2 แปลง จากทั้งหมด 39 แปลง ที่ถูกร้องร้องเรียน ว่าเป็นการออก "โฉนดที่ดิน" โดยมิชอบ

 

ย้อนกลับไป 10 ปีก่อน นี่เป็นคดีมหากาพย์ที่ได้รับความสนใจ เมื่อมี "หญิงชาวกระบี่" ร้องเรียนให้ตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินริมทะเลในเขตป่าสงวนแห่งชาติอ่าวนาง-หางนาค และพบ รายชื่อผู้ถือครองว่ามีทั้งอดีตนักการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการระดับสูง

ทีมข่าวติดตามเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ลาดตระเวนเขตป่าสงวนแห่งชาติอ่าวนาง-หางนาคพบว่า หลังเดินผ่านแนวเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ก็จะเข้าสู่พื้นที่ป่าสงวนฯ ที่นี่ยังมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ แหล่งต้นน้ำเมื่อตรวจสอบกับแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ พบว่า แนวถนนขนาดเล็ก ถูกใช้เป็นเส้นแบ่งระหว่างแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และที่ดิน ที่ถูกนำไปยื่นขอออกโฉนด

 

แต่ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลว่า นี่เป็นเส้นแนวเขต ที่เกิดขึ้นจากการทุจริตร่วมกัน ของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจำนวน 6 คนทำให้ "โฉนด" ทั้งหมด กลายเป็น "โฉนด" ที่ออกโดยมิชอบ

ทีมข่าวตรวจสอบข้อมูล พบว่า ที่ดินที่ถูกนำไปออกโฉนดทั้ง 39 แปลง และมีการแบ่งซอยเพิ่มเป็น 42 แปลง ติดริมทะเล บางแปลง มีชายหาด ทั้งหมดเป็นที่ดินที่มีมูลค่าสูง และยังพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายแปลงถูกซื้อขายเปลี่ยนมือ ขณะที่บางส่วนถูกนำไปใช้ค้ำประกันเงินกู้ในธนาคารแต่ที่น่าตั้งข้อสังเกต คือ ไม่พบร่องรอยของการเข้ามาใช้ประโยชน์ หรือ ทำกิน ทั้งในปัจจุบัน และภาพถ่ายทางอากาศในอดีต จากการตรวจสอบตามแนวเขตโฉนดแปลงนี้ พบ มีการนำรั้วลวดหนาม และพ่นสีบริเวณต้นไม้เพื่อเป็นหลักเขต พร้อมกับมีหมุดโฉนดที่ดินปักอยู่กลางเนินเขาทั้งที่ลักษณะที่ดินมีความลาดชันเกินร้อยละ 35 ตามกฎหมายไม่สามารถขอออกโฉนดได้ ตรงกับการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ "กรมสอบสวนคดีพิเศษ"

 

ทีมข่าวสอบถามเรื่องนี้ไปยัง ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ ได้ข้อมูลว่า เดิมทีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวนาง-หางนาค เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ.2495 ซึ่งผู้บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้ว

 

ขณะที่เส้นแนวเขต หลังเปลี่ยนเป็น "ป่าสงวนแห่งชาติอ่าวนาง-หางนาค" ตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 ก็ระบุชัดเจนว่า ครอบคลุมพื้นที่ป่าทั้งหมด 28,934 ไร่ จนจรดเขตทะเล ซึ่งคลาดเคลื่อนจากเส้นเขต ที่เจ้าหน้าที่รังวัด นำไปใช้ประกอบในการออก "โฉนดที่ดิน"

"โดยสภาพตามกฎหมายแล้ว ซึ่งมีประวัติความเป็นมา ตั้งแต่ 2495 ก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน และออกเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2510 อีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าถ้าดูประวัติความเป็นมาของป่านี้มันก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน" นายสมชาย นุชนานนท์เทพ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ กล่าว

 

จากการตรวจสอบเอกสารเชิงลึก พบว่า โฉนดทั้ง 39 แปลง ออกภายใต้โครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2548 ปี 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลวินัยร้ายแรงและความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 6 คน พนักงานอัยการ สั่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของศาลชั้นต้น

"ทราบมาทางวินัยทางต้นสังกัดก็มีการลงโทษแล้วแต่ในทางอาญาอัยการสูงสุดสั่งฟ้องแล้ว อยู่ระหว่างการที่ศาลพิจารณา ล่าสุดอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานอยู่ " นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะชี้มูลความผิด ว่าการออกโฉนดดังกล่าว เป็นการออกโฉนดโดยมิชอบตามกฎหมาย และกำลังดำเนินคดีต่อเนื่องกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริต แต่ในทางกลับกัน จนถึงเวลานี้ "โฉนดที่ดิน" ทั้ง 39 แปลง ก็ยังไม่มีการเพิกถอนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คำตอบว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการตีความทางกฎหมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง