THE EXIT : เจาะธุรกิจหาดบางแสน ตอนที่ 1

สังคม
4 ก.ค. 63
18:51
1,583
Logo Thai PBS
THE EXIT : เจาะธุรกิจหาดบางแสน ตอนที่ 1
หาดบางแสนเรียกว่าทุกตารางเมตร เป็นเงินเป็นทอง ท้องถิ่นอาจเก็บค่าธรรมเนียมได้ไม่มาก เมื่อเทียบกับที่ไหลออกจากกระเป๋านักท่องเที่ยว แต่ท่ามกลางโอกาสสร้างรายได้ ผู้ประกอบการเองก็ต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

จุดเด่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมาหนคร ทัศนียภาพยามเย็น จึงยิ่งเชิญชวนให้ผู้คนหลั่งไหลเดินทางมาหาดบางแสนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ "บางแสน" จึงมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ปีล่าสุด (62) มีนักท่องเที่ยวเกือบ 3 ล้านคน สร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท

 "สมัยก่อนกางเตียงได้ประมาณ 300 กว่าอันต่อวันช่วงวันหยุดเทศกาลเพราะนักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวเยอะ " ศิริกัญญา ตรีอุดม ประธานกลุ่มเตียงผ้าใบชายหาดบางแสน กล่าว 

เมื่อเศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโต นักท่องเที่ยวมีจำนวนมากจึงมีผู้ประกอบการรายใหม่สนใจทำกิจการให้เช่าเตียงผ้าใบมากขึ้นหลายคน บางรายยอมควักกระเป๋าลงทุนทำธุรกิจเตียงผ้าใบด้วยวิธีเซ้งสิทธิ์กันเอง

 

กว่า 14 ปีแล้ว "สราญรัตน์ โพธิรุกข์" หันมาทำธุรกิจเตียงผ้าใบ จากอดีตเคยเปิดร้านอาหารอยู่แถวอ่างศิลา แต่เพราะหวังว่ากิจการเตียงผ้าใบจะเป็นจุดเปลี่ยนของอาชีพที่ลงทุนได้ระยะยาว "สราญรัตน์" จึงเริ่มเช่าสิทธิ์จากคนรู้จักและจ่ายค่าเช่าปีละกว่า 100,000 บาท

"สราญรัตน์" เซ้งสิทธิ์ เตียงผ้าใบกับเจ้าของสิทธิ์เดิมในราคา 3.2 ล้านบาท เมื่อปี 2551 และต้องจ่ายอีก 200,000 บาท เพื่อเป็นขั้นตอนรับโอนสิทธิ์ใบอนุญาตกับเทศบาลเมืองแสนสุขเพื่อต้องการทำกิจการเตียงผ่าใบให้ถูกต้อง

 

นอกจากนี้ธุรกิจเตียงผ้าใบยังเป็นกิจการเดียวบนชายหาดบางแสน ที่ผู้ประกอบการต้องจับสลากหมุนเวียนเปลี่ยนทำเลกันทุกปี

"เริ่มจากตั้งแต่อยู่ล็อกต้นๆ ที่ยังไม่ได้มีการจับสลากนะ ตรงนั้นก็เซ้งสิทธิ์มานานแล้ว ประมาณ 3 ล้านกว่าบาท แล้วก็ทำมาเรื่อย ถามว่ารายได้ดีมั้ย มันก็ดี เพราะว่าลงทุนครั้งเดียว ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้นาน" สราญรัตน์ โพธิรุกข์ ผู้ประกอบการเตียงผ้าใบ บางแสน กล่าว

ปัจจุบันเทศบาลเมืองแสนสุขเป็นผู้รับผิดชอบมีผู้ประกอบการรวม 143 คน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนใหญ่ คือ หาดวอนนภา หรือ บางแสนล่าง (42 คน) ช่วงวงเวียน แนวชายหาด ถือเป็นทำเลทองที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด (84 คน) และโซนสุดท้าย แหลมแท่น (24 คน)

 

ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่ละรายได้ได้สิทธิ์ประกอบกิจการบนพื้นที่ 10 × 19 ม. มานานเกือบ 10 ปี คิดค่าเช่าเตียงกับนักท่องเที่ยวตัวละ 30 บาท ซึ่งผู้ประกอบการวางเตียงได้มากกว่า 200 ตัว แต่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หลังการปลดล็อกชายหาดทำให้ผู้ประกอบกิจการเตียงผ้าใบถูกลดพื้นที่เล็กลงเหลือ 10 × 15 เมตร แต่ละเจ้าวางเตียงผ้าใบได้เฉลี่ยประมาณ 100 ตัว แต่เทศบาลฯอนุญาตให้ขึ้นค่าเช่าเตียงผ้าใบได้ตัวละไม่เกิน 50 บาท

 

ธุรกิจเตียงผ้าใบคึกคักกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข รับรู้ถึงการเซ้งกันเองของผู้ประกอบการแม้ไม่รู้จำนวนผู้เซ้งที่ชัดเจน แต่แก้ปัญหาการเซ้งให้เข้าสู่ระบบรัฐดูแล และออกใบเสร็จเป็นหลักฐานในรูปแบบเงินอุทิศให้เทศบาลฯ เมื่อผู้ประกอบการเปลี่ยนสิทธิ์ กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการ และกำหนดระยะเวลาให้เซ้งได้ทุก 3 - 5 ปี

"ก่อนหน้านี้เขาไปคุยกันเองเราไม่มีสิทธิ์รู้เลย แต่ตอนหลังพอเรามีเรื่องใบอนุญาตเราจะรู้แล้วว่า นาย ก.เป็นเจ้าของล็อกไหน นาง ข.เป็นเจ้าของล็อกไหน พอเปลี่ยนมือเราก็จะรู้แล้วว่าเขาไปแอบเซ้งกัน จากนาย ก. เป็น นาง ข.ซึ่งหากไม่ตรงกันเทศกิจก็จะจับ แต่พอจับบ่อย ๆ ก็ให้มาทำให้ถูกต้องตามมาตรการขั้นตอนต่าง ๆ เช่น จ่ายค่าธรรมเนียม เปลี่ยนชื่อให้ถูกต้อง ตรวจสอบคุณสมบัติ แต่เรื่องราคาควบคุมก็ต้องให้เขาทราบ โดยจะเปิดเป็นช่วง ๆ และหากมีการเซ้งนอกช่วงเวลาที่ประกาศก็สามารถใช้สิทธิ์ในการตรวจจับความผิดได้ " นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข กล่าว

 

ในอดีตนักท่องเที่ยวจึงมักพบกับสภาพที่ผู้ค้ารุมถาม หรือ แย่งลูกค้าเตียงผ้าใบ ปัจจุบัน หลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เทศบาลเมืองแสนสุข ปรับรูปแบบสั่งห้ามผู้ค้าถืออาหารขายใกล้กับผ้าใบ แต่เปิดทางให้นักท่องเที่ยวเดินเลือกซื้ออาหาร จากร้านที่อยู่ตามแนวจาการจัดระเบียบชาดหาดได้ตามความต้องการ

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปรากฏการณ์ - จุดเปลี่ยน "บางแสน" ในรอบกว่า 40 ปี

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง