กมธ.รับฟังฯ ที่ นศ.ไม่คุยด้วย

Logo Thai PBS
กมธ.รับฟังฯ ที่ นศ.ไม่คุยด้วย
การตั้ง กมธ.รับฟังความคิดเห็นนักศึกษาฯ ถูกปฏิเสธจากกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ที่ยืนยันว่านายกฯ เป็นเป้าหมายหนึ่งเดียว ไทยพีบีเอสพูดคุยกับ “ภราดร ปริศนานันทกุล” หนึ่งใน กมธ.ว่าจะทำงานอย่างไร เมื่ออีกฝ่ายไม่คุยด้วย และมองว่า กมธ.นี้เป็นแค่เครื่องมือรัฐบาล

“การโหวตตั้งกมธ.ที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงเพื่อการซื้อเวลาและปาหี่ ที่ไร้ความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐ ซ้ำผู้มีอำนาจยังกล่าวหาว่าเยาวชน "มีผู้อยู่เบื้องหลัง" คำพูดเช่นนี้ถือว่าดูถูกเยาวชนผู้เรียกร้องอนาคตที่ดีกว่าเป็นอย่างมาก”

กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” สื่อสารชัดเจน ไม่พูดคุยเจรจากับคณะกรรมาธิการวิสามัญตามญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร รับฟังความคิดเห็นนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ที่มีมติตั้งขึ้นเมื่อ 23 ก.ค. และกลายป็น กมธ.ที่ถูก ส.ส.ฝ่ายค้านปฏิเสธเข้าร่วม ด้วยเหตุผลเดียวกับกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” รายชื่อจึงมีเพียงสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

 

ไทยพีบีเอส พูดคุยกับ “ภราดร ปริศนานันทกุล” ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย หนึ่งในกรรมาธิการชุดนี้ ที่ถูกปฏิเสธจากฝ่ายค้านทั้งในและนอกสภา

 

ทิศทางการทำงานของ กมธ. ?

จะไม่เหมือนกรรมาธิการปกติที่นั่งอยู่ในห้องประชุม และเชิญคนนั้นคนนี้มาชี้แจง ผมคิดว่าเราจะไม่ทำอย่างนั้น เราจะประชุมให้น้อย และไปรับฟังพวกเขาตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการชุมนุม

จะรับฟังอย่างไรเมื่ออีกฝ่ายไม่คุยด้วย ?

ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดานะ ที่น้องเขาจะมีธงว่าไม่อยากคุยกับพวกผม เพราะมีความรู้สึกว่าพวกผมเป็นตัวแทนของรัฐบาล ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่หรอกครับ และผมไม่ได้ตั้งใจไปเจรจาต่อรองในฐานะตัวแทนของรัฐบาล ผมตั้งใจจะไปฟังความต้องการของพวกเขาจริง ๆ นอกจาก 3 ข้อเรียกร้อง ผมเชื่อว่าในกลุ่มผู้ชุมนุม จะมีกลุ่มอื่นอยู่บ้าง เราอาจไมได้คุยกับเฉพาะแกนนำ แต่ไปคุยกับน้อง ๆ ล่างเวที ผมว่า กมธ.คณะนี้ต้องมอง และหาวิธีการทำงานให้ต่างออกไป

หากเป็นประเด็นเกี่ยวกับสถาบันฯ ?

เท่าที่ผมนั่งฟังไลฟ์ ผมไม่เห็นการเคลื่อนไหวในประเด็นสถาบันฯเลย และต้องบอกกับทางสื่อมวลชนด้วยว่า อย่าพยายามเอาประเด็นพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ผมเกรงจะซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งผมเชื่อว่าทุกฝ่ายไม่ปรารถนาจะให้เป็นอย่างนั้น

รายงานสรุปของ กมธ.ในฐานะอำนาจนิติบัญญัติ จะมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล ?

เราก็ควรต้องหาแนวทางให้ชัดเจนว่ารัฐบาลควรจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง วันนี้ ต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่าเป็นการขับเคลื่อนกันเฉพาะนอกสภาของกลุ่มนักศึกษาเท่านั้น ถ้าหากเราเดินหน้าร่วมกันทั้งรัฐสภา และนักศึกษา ผมว่าการเจรจาต่อรองมันน่าจะเดินไปข้างหน้าและหาข้อยุติร่วมกันได้

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญตามญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร รับฟังความคิดเห็นนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ประชุมนัดแรก 31 ก.ค.นี้

เรื่อง : จตุรงค์ แสงโชติกุล 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง