วันนี้ (10 ส.ค.2563) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา "แม่... ภาระที่แบกรับซ้ำยังถูกทำร้าย" เพื่อร่วมรณรงค์ยุติปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวเนื่องในวันแม่แห่งชาติ
น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ สำรวจสถิติความรุนแรงในครอบครัวรอบครึ่งปี 2563 โดยรวบรวมจากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. 63 พบว่า มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 350 ข่าว
แบ่งตามประเภทข่าวความรุนแรง เป็นข่าวการฆ่ากันตาย 201 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 57.4 รองลงมา คือ ข่าวการทำร้ายกัน 51 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 14.6 ข่าวการฆ่าตัวตาย 38 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 10.9 และข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว 31 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.9 สุดท้ายคือ ข่าวการตั้งครรภ์ไม่พร้อม 10 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 2.9
เนื่องจากแหล่งข้อมูลเก็บสถิติมาจากหนังสือพิมพ์ จึงทำให้พบสถิติการฆ่ากันมากที่สุด แต่เมื่อตรวจสอบจะพบว่า นอกจากความรุนแรงของการกระทำแล้ว ยังเห็นรูปแบบของการใช้ความรุนแรงได้อย่างชัดเจน หลังเก็บสถิติต่อเนื่องมาหลายปี
เมื่อเปรียบเทียบข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในรอบครึ่งปี 2563 เทียบกับปี 2559 พบว่า สูงขึ้นถึงร้อยละ 50 และสูงขึ้นกว่าปี 2561 ร้อยละ 12 โดยในครึ่งปี 2563 ข่าวอันดับ 1 ยังเป็นข่าวการฆ่ากันในครอบครัว เป็นสามีกระทำต่อภรรยาสูงถึง 65 ข่าว โดยมีมูลจากหลายปัจจัย ทั้งหึงหวง ระแวงว่าจะนอกใจ ปัญหาเรื่องทรัพย์สิน ขัดแย่งเรื่องเงิน ปัญหาธุรกิจ ความเครียด เมาเหล้า
ส่วนภรรยากระทำต่อสามี 9 ข่าว มีมูลเหตุมาจากถูกสามีทำร้ายร่างกายก่อน ปัญหาความขัดแย้ง นอกจากนี้ยังพบข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัวสูงถึง 31 ข่าว แบ่งเป็นข่าวการข่มขืนโดยบุคคลในครอบครัวสูงถึง 30 ข่าว และข่าวการอนาจารโดยบุคคลในครอบครัว 1 ข่าว
คนที่ถูกทำร้ายโดยเฉพาะคนเป็นแม่นั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอะไรไม่ดี ไม่ได้ทำกับข้าวไม่อร่อย ดูแลบ้านผิดพลาด แต่กลับได้รับความรุนแรงกลับมา
เมื่อถูกทำร้าย ต้องทำอย่างไร?
น.ส.จรีย์ ระบุว่า ผู้ที่ถูกทำร้ายเมื่อได้รับบาดเจ็บก็ตัดสินใจเข้าแจ้งความ แต่บางครั้งตำรวจอาจจะไม่รับแจ้ง โดยให้กลับไปไกล่เกลี่ย พร้อมบอกว่าเป็นเรื่องในครอบครัว เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ ผู้ที่ถูกทำร้ายสามารถมองหาหน่วยงานอื่นเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้ ทั้งหน่วยงานรัฐหรือมูลนิธิต่างๆ อย่างมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือ
การถูกทำร้ายร่างกาย ถ้ามีครั้งแรก จะมีครั้งต่อไปตามมาเสมอ ดังนั้น ขอให้อย่าทนและกล้าที่จะออกมาต่อสู้ เพื่อตัวเอง
สำหรับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลจะให้คำปรึกษาผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งทางโทรศัพท์ 02-513-2889 หรือเดินทางมาขอรับคำปรึกษาที่มูลนิธิฯ รวมถึงการขอคำปรึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ เพจ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้ามามูลนิธิฯ จะมีการช่วยเหลือโดยประเมินและจัดระดับความเสี่ยง หากเสี่ยงต่ำเจ้าหน้าที่จะรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษา หากความเสี่ยงระดับกลาง อาจส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเข้าพื้นที่เพื่อดูแล และระดับเสี่ยงสูงเจ้าหน้าที่จะดึงสหวิชาชีพเข้ามาให้การช่วยเหลือด้วยกันต่อไป
นอกจากนี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังมีการทำงานโดยลงพื้นที่ทำงานกับชุมนุม อบรมและให้ข้อมูลกับแกนนำชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจว่า "ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องส่วนรวม" เมื่อแกนนำในชุมชนมีความเข้าใจในส่วนนี้ จะเริ่มสังเกตความผิดปกติในชุมชนทั้งจากสภาพแวดล้อม เสียงการทะเลาเบาะแว้ง รวมถึงร่องรอยบาดแผลที่ถูกทำร้าย และจะสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที เบื้องต้น นำร่องในพื้นที่ สมุทรปราการ อำนาจเจิรฐ ชุมพร และเครือข่ายแรงงานในปริมณฑลบางพื้นที่
กลไกสังคมต้องไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว ที่สำคัญคือ ภาครัฐต้องสนับสนุนผู้ถูกทำร้ายในด้านเศรษฐกิจด้วย เพื่อไม่ให้เงินมาเป็นปัจจัยที่ต้องอดทนจนตัดทางเลือกในการสู้เพื่อออกมาจากความรุนแรงไป
แม่ - เมีย เล่าเรื่องจริงถูกทำร้ายแต่ต้องแบกรับ
น.ส.เอ พนักงานโรงงาน อายุ 47 ปี แต่งงานและอยู่กับสามีมา 16 ปี โดยมีลูกด้วยกัน 2 คน เล่าว่า ก่อนแต่งงานสามีเป็นคนดีมาก แต่เมื่อตกงานแล้วกลับบ้านเกิดไป ถูกเพื่อนชักชวนให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนต้องเมาทุกวัน น.ส.เอ จึงตัดสินใจอุ้มท้องลูกมาทำงานที่กรุงเทพฯ สมัครเป็นพนักงานโรงงาน
เมื่อมาอยู่แล้ว สามีก็ได้งานเป็น รปภ.ที่บริษัทแห่งหนึ่ง แต่ยังติดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเมา เมื่อไม่มีสติก็เริ่มต่อว่าและใช้ความรุนแรง ทำลายข้าวของ ทำร้ายภรรยาจนถึงขั้นเลือดตกยางออก โดยเฉพาะช่วง COVID-19 ที่สถานะการเงินที่บ้านย้ำแย่ โรงงานไม่มีโอทีให้ ทำให้ถูกบังคับไปกู้เงิน หรือยืมเพื่อน ถ้าไม่ได้เงินมาก็จะถูกทำร้าย แต่ น.ส.เอ ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ทนเพราะลูก
เราไม่มีเงิน ยิ่งช่วง COVID-19 ข้าวบูดยังต้องเอาไปล้างมาต้มเกลือกิน ลูกชวนหนีก็ไปไม่ได้ บอกว่า ไม่มีเงินแม้แต่จะเช่าห้องใหม่อยู่ ทำได้แค่ทน เคยคิดจะฆ่าตัวตาย แต่เพราะคิดถึงลูกก็ทำไม่ลง
ทั้งนี้ น.ส.เอ ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เครือข่ายแรงงานของมูลนิธิฯ จนเจ้าหน้าที่ทราบเรื่อง และได้เข้าไปช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว
เช่นเดียวกับ น.ส.ยุ้ย ซึ่งมีสามีเป็นชาวต่างชาติ ย้ายกลับมาจากประเทศเยอรมนีทั้งครอบครัว พร้อมลูก 8 ขวบ 1 คน เนื่องจากผลกระทบ COVID-19 ทำให้แผนการเปิดธุรกิจต้องหยุดชะงัก เงินหมด งานไม่มี สามีเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทำร้ายร่างกายหนักมากขึ้น จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และแจ้งความดำเนินคดีทำร้ายร่างกายกับสามี
ลูกกลัวพ่อจนไม่อยากพูดภาษาเยอรมัน แล้วจะไปฉีกพาสปอร์ตทิ้ง ตอนแรกเราคิดว่าเราทนเพื่อลูก แต่พอเห็นลูกเป็นแบบนี้เราเลยตัดสินใจลุกขึ้นสู้ เพราะไม่อยากให้ลูกได้รับพฤติกรรมรุนแรงจากพ่อแบบนี้ และขอให้ทุกคนที่ถูกทำร้ายอย่าทน ถ้าแจ้งตำรวจแล้วทำอะไรไม่ได้ ก็ติดต่อมูลนิธิฯ ที่จะเข้ามาช่วยแทน
"เหล้า" ปัจจัยหลักเกิดความรุนแรงในครอบครัว
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬกะภัณ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ระบุว่า ความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงและเด็กได้รับ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักที่พบคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะเป็นปัจจัยร่วมสำคัญ โดยเฉพาะช่วง COVID-19 ที่ทุกคนอยู่บ้าน จนอาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงิน ขาดรายได้ เมื่อมีปัญหาก็เริ่มมีการใช้ความรุนแรง ฝ่ายที่ถูกกระทำก็จะเริ่มเกิดความกลัว กระทบจิตใจ และปัญหาก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในต่างประเทศก็มีรายงานสถิติการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นในช่วง COVID-19 ด้วย
น.ส.รุ่งอรุณ ระบุอีกว่า สสส.ได้พยายามเข้าให้ข้อมูลและช่วยเหลือเพื่อให้กลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรงเนื่องจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลด ละ เลิก ช่วยให้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวลดลงไปได้ โดยการแก้ปัญหาจากปัจจัยหลัก สำหรับใครที่ต้องการคำปรึกษาสามารถโทรมาได้ที่สายด่วน 1413 หรือหากมีปัญหาความรุนแรงก็สามารถติดต่อมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้