ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดบทเรียน "ผู้สื่อข่าว" อ้างชื่อช่องอื่นสัมภาษณ์ผู้ร่วมชุมนุม

สังคม
19 ส.ค. 63
11:43
5,722
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียน "ผู้สื่อข่าว" อ้างชื่อช่องอื่นสัมภาษณ์ผู้ร่วมชุมนุม
โซเชียลวิพากษ์กรณีผู้สื่อข่าวอ้างชื่อช่องอื่นขอสัมภาษณ์ผู้ชุมนุม แต่กลับปรากฏภาพในข่าวอีกช่อง ขณะที่ NEW 18 เข้าแจ้งความที่ ปอท.หลังพบถูกแอบอ้างชื่อ ด้านบรรณาธิการข่าวเนชั่นทีวีออกโรงขออภัย ตรวจสอบพบผู้สื่อข่าวทำจริง

วันนี้ (19 ส.ค.2563) จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มคณะประชาชนปลดแอกบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งได้เผยแพร่ข้อความระบุว่า เพื่อนถูกสำนักข่าวขอสัมภาษณ์ บอกว่ามาจาก NEW TV ช่อง 18 แต่ปรากฏว่าไปเห็นตัวเองในช่อง Nation TV

ต่อมา ทวีตข้อความดังกล่าวมีชาวทวิตเตอร์เข้ามารีทวีตไปกว่า 90,000 ครั้ง และได้แสดงความคิดเห็นถึงความเหมาะสมของการทำหน้าที่สื่อมวลชน นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งได้เผยแพร่ภาพเฟซบุ๊กโดยอ้างว่าเป็นของผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว ซึ่งเนื้อหาในเฟซบุ๊กเป็นการกล่าวถึงการทำงานว่า "มายทีม ที่ต้องคอยตอบคำถามผู้ชุมนุมว่ามาจากช่องอะไร" 


หลังจากเกิดกรณีดังกล่าวชาวโซเชียลบางคนได้แนะนำแนวทางเมื่อมีนักข่าวต้องการขอสัมภาษณ์ว่า หากออกไปร่วมกิจกรรมหรือชุมนุม​ แล้วถูกนักข่าวขอสัมภาษณ์​ แต่ไม่คุ้นหน้า ให้ถามหา "บัตรสื่อมวลชน" ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์​ ซึ่งจะบอกชื่อสังกัดต้นทางและตำแหน่ง หรือให้ขอดูบัตรพนักงานแทนซึ่งจะช่วยยืนยันได้ว่าเป็นนักข่าวจริงและมาจากต้นสังกัดใด

NEW 18 แจ้งความ ปอท.ถูกแอบอ้างชื่อ

ขณะที่ นายพงษ์พิพัฒน์ จินดาศรี รักษาการบรรณาธิการบริหาร NEW 18 เข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน สืบเนื่องจากมีบุคคลแอบอ้างเป็นผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง NEW 18 ก่อนไปสอบถามผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา

นายพงษ์พิพัฒน์ กล่าวว่า ได้นำหลักฐานเป็นเอกสารการแชร์ภาพของผู้ถูกให้สัมภาษณ์ ซึ่งกล่าวตำหนิบุคคลผู้แอบอ้างชื่อสถานีโทรทัศน์ NEW 18 แต่กลับนำเทปสัมภาษณ์ไปออกในช่วงข่าวของสถานีโทรทัศน์อีกช่องหนึ่ง รวมทั้งหลักฐานการโพสต์เฟซบุ๊กของผู้แอบอ้างที่ยอมรับว่า ก่อนสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมระบุว่าเป็นสื่อมวลชนของช่องอื่น เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการลงบันทึกประจำวัน

เนชั่นทีวีขออภัย สั่งพักงานนักข่าว 1 สัปดาห์

ภายหลัง กองบรรณาธิการเนชั่นทีวี ได้ออกคำชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า กองบรรณาธิการได้ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น และได้สอบถามผู้สื่อข่าวหญิงรายดังกล่าวแล้ว พบว่าข้อมูลที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันนั้นเป็นความจริง ทางเนชั่นทีวีจึงต้องขออภัยมายังบุคคลที่ถูกสัมภาษณ์, ผู้ชมทุกท่าน ตลอดจนประชาชนทั่วไปมา ณ ที่นี้

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า สาเหตุที่ผู้สื่อข่าวหญิงรายนี้ต้องปกปิดสังกัดตัวเอง เป็นเพราะผู้สื่อข่าวมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย เกรงว่าหากบอกสังกัดที่แท้จริงไป อาจจะถูกกดดันการทำหน้าที่ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวของเนชั่นทีวีที่ลงพื้นที่ติดตามข่าวการชุมนุมในหลายๆ สถานที่ ได้ถูกคุกคาม กดดัน ตะโกนต่อว่า รวมไปถึงด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายมาแล้วหลายครั้ง ทั้งยังมีสร้างแคมเปญรณรงค์ให้เลิกดูเนชั่นด้วย

สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น ทางกองบรรณาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เรียกผู้สื่อข่าวหญิงรายนี้มาทำความเข้าใจ และได้กำชับไม่ให้กระทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก พร้อมพิจารณาลงโทษในลำดับต่อไป โดยการไปรายงานข่าวภาคสนามทุกครั้ง จะต้องแจ้งชื่อและสังกัดอย่างตรงไปตรงมา และพร้อมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น โอกาสนี้ทางกองบรรณาธิการขอแสดงความเสียใจและขอโทษไปยังสถานีโทรทัศน์ที่ถูกอ้างถึงด้วย

แหล่งข่าวจากกองบรรณาธิการเนชั่น ระบุว่า สำนักข่าวไม่ได้สั่งให้ปกปิดต้นสังกัด แต่มีการกำชับสำหรับนักข่าวภาคสนามทุกคนว่าไม่แสดงสัญลักษณ์ของสำนักข่าว ทั้งการแต่งกายรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ทำข่าว

ทั้งนี้ สำนักข่าวได้สั่งพักงานผู้สื่อข่าวภาคสนามคนดังกล่าว 1 สัปดาห์ ส่วนโทษอื่นๆ ยังไม่ได้มีการพิจารณา เบื้องต้นทราบว่า ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวค่อนข้างเครียด และชี้แจงว่า เป็นการตัดสินใจปกปิดช่องด้วยตนเอง 

นักข่าวไม่แสดงตน บทเรียนเพื่อนร่วมวิชาชีพ

นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจมาจากความกลัวของผู้สื่อข่าว และการมีชั่วโมงบินในการทำงานที่ไม่มากนัก จนขาดความเชื่อมั่น สิ่งสำคัญคือ เมื่อเกิดปัญหาแล้ว ทางช่องและผู้บริหารต้องแสดงความรับผิดชอบและนำไปสู่กระบวนการแก้ไขและตักเตือน


การรายงานข่าวในการชุมนุมนั้น ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่การทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวต้องชัดเจนว่าเป็นการรายงานข่าว เมื่อสัมภาษณ์แล้วก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แหล่งข่าวให้ได้ว่าข่าวที่สัมภาษณ์ไปจะไม่มีการนำไปบิดเบือน ส่วนการนำเสนอในแง่มุมอื่นๆ  อาจเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของผู้ดำเนินรายการบางคนเท่านั้น

เรื่องที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นบทเรียนให้เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อได้เห็นและไม่ใช้วิธีนี้ในการปฏิบัติงาน สิ่งที่ควรทำคือต้องพิจารณาถ้าคิดว่าอันตรายก็ไม่ต้องเข้าพื้นที่ หากจะเข้าพื้นที่ต้องกล้าที่จะแสดงตน ซึ่งกรณีการชุมนุมในครั้งนี้ไม่เชิงว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น


นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล
กรรมการนโยบาย ด้านกิจการสื่อสารมวลชน ไทยพีบีเอส ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเนื้อหาในคู่มือการเรียนการสอนวิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อมวลชน ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า การไม่แสดงตัวว่าเป็นนักข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าการไม่แสดงตัวเป็นนักข่าว ขณะกำลังทำข่าวจะเป็นข้อยกเว้นในกรณีที่ต้องมีการรวบรวมข้อมูล ข่าวสารในการทำข่าวเชิงสืบสอบ สอบสวน เนื่องจากการเปิดเผยตัวต่อแหล่งข่าวอาจทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือ หรืออาจเกิดอันตรายได้

แต่ตามหลักจริยธรรมในการทำข่าวแล้ว ไม่ว่านักข่าวจะกำลังทำข่าวลักษณะใดก็ตาม นักข่าวต้องแนะนำตัวเองและแจ้งวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ให้แหล่งข่าวทราบ ไม่ควรทำให้แหล่งข่าวประหลาดใจว่า ทำไมคำพูดของเขาจึงไปปรากฏเป็นข่าวได้

นักข่าวภาคสนาม นำเสนอข่าวจริงไม่ต้องกลัวม็อบ

ศิริวรรณ รักสัตย์ ผู้สื่อข่าวสายการเมืองช่องไทยรัฐ ระบุว่า ผู้สื่อข่าวภาคสนามมักจะทำข่าวจากสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เพราะประชาชนต้องการรู้ว่าตรงหน้ากำลังเกิดอะไรขึ้น โดยจะเน้นบรรยากาศ แต่บางครั้งอาจเกิดความคลาดเคลื่อนจากกองบรรณาธิการบางแห่งที่นำข้อมูลไปปรับเปลี่ยน

นักข่าวสายการเมืองจะรู้ดีว่า เมื่อเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมจะต้องทำข่าวอย่างไร ที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดกรณีการแอบอ้างเป็นช่องอื่นมาก่อน 

ทั้งนี้ น.ส.ศิริวรรณ ระบุว่า หากสถานการณ์การชุมนุมมีความรุนแรงและอันตรายจริง ก็จะมีการเก็บหัวไมค์ หรือไม่แสดงสัญลักษณ์ช่องแทน อย่างที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีการชุมนุมที่มองว่าสื่อบางสำนักเลือกข้าง ทำให้สื่อต้องตัดสินใจไม่แสดงสัญลักษณ์ แต่ก็ไม่ได้มีการแสดงตนว่าเป็นช่องอื่น

การทำข่าวสิ่งสำคัญคือ นำเสนอความจริง ไม่บิดเบือนจนสร้างประเด็น หากนำเสนอข้อเท็จจริงก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง