ท่ามกลางกระแสความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา "ผูกโบขาว ชูสามนิ้ว" ขยายเครือข่ายเรียกร้องการ "ยุบสภา-แก้ไขรัฐธรรมนูญ" จนกลายเป็นแนวร่วมขับไล่รัฐบาล นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย หนึ่งในนั้นคือ "วุฒิสภา" หรือ สภาสูงของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ควบคุม และติดตามการบริหารราชการแผ่นดิน
แม้ทุกฝ่ายจะระดมสมองช่วยกันทางหาออก แต่วิกฤตศรัทธาของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา สถานการณ์ขณะนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน สะท้อนถึงการก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศชาติบ้านเมือง ดังนั้นสิ่งต้องเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือการสร้างความเข้าใจ
นายสมชาย แสวงการ ประธาน กมธ. สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค เห็นว่า รัฐบาลควรจัดเวทีสาธารณะ "รวมไทยสร้างชาติ" เพื่อเป็นเวทีรับฟังและหาทางออกให้กับประเทศ ในการระดมความคิดเห็น ร่วมแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญและข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา
ขณะที่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธาน กมธ. การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส มองว่า แก้ปัญหาระยะยาว ต้องอาศัย การปลูกฝัง หน้าที่พลเมืองและส่วนร่วมของประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตยให้กับเด็ก และเยาวชน
ทั้งนี้ กมธ.ฯ จะเปิดหลักสูตรอบรม "ยุวชนวุฒิสภา" ในเดือนต.ค.นี้ เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีคุณภาพ เรียนรู้เรื่องการเมือง โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติเกี่ยวกับวุฒิสภา และ ส.ส. รวมถึงหน้าที่พลเมือง เพื่อที่คนเหล่านี้เติบโตเป็นพลเมืองและพลังที่ดีของสังคม
นอกจากนี้ยังมีกลไกสำคัญอย่างสภาเด็กและเยาวชน ช่วยสะท้อนมุมมองแนวคิดและปัญหาของเด็กและเยาวชน ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติพ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2560 ให้มีการขยายการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนลงไประดับตำบล /เทศบาลและเขตในพื้นที่ กทม. ทำให้ปัจจุบันมีสภาเด็กและเยาวชน ทุกระดับทั่วประเทศมากถึง 8,780 แห่ง
"จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่สภาเด็กและเยาวชน ไม่มีปฏิกิริยากับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาในครั้งนี้ เพราะพวกเขาแยกเรื่องอารมณ์กับเหตุผล และมีพื้นที่ในการเสนอปัญหา ทำให้อยู่ร่วมในสังคมได้ ดังนั้นเชื่อว่าการมีสภาเด็กและเยาวชนจำนวนมาก จะทำให้เด็กและเยาวชนมีความเข้มแข็ง ไม่ถูกชักจูงทางการเมืองได้ง่าย" นายวัลลภ กล่าว
เดือน พ.ย.นี้ สภาเด็กและเยาวชน ทั่วประเทศจะมีกิจกรรมใหญ่ ในการพบ นายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯ โดยเปิดเวทีเหมือนการประชุมสภานิติบัญญัติ เพื่อให้เด็กและเยาวชนจากสภาฯ นำเสนอปัญหาและความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ
นอกจากนี้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธาน อนุกมธ.การมีส่วนร่วมของประชาชน ได้เตรียมจัดตั้ง "สภาประชาสังคม" คาดว่าจะประชุมครั้งแรกในเดือน ก.ย.นี้ โดยมีสมาชิกหรือองค์กร 63- 65 คน จากทั่วประเทศ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมประชาธิปไตยในระดับชุมชนและระดับกลาง ทำหน้าที่จัดทำนโยบายการมีส่วนร่วม ทั้งเรื่องการเสนอกฎหมาย ขององค์กรหรือสมัชชา รวมถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่พร้อมจะอาสาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรับฟังความคิดเห็น
ดังนั้นคงต้องรอดูว่าบททดสอบวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้จะจบอย่างไร จะถึงจุดหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ความจริงใจและการเปิดใจพร้อมรับฟัง เพราะนั่นจะเป็นทางออกที่นำความสงบสุขของสังคมไทยกลับคืนมา