วันนี้ (31 ส.ค.2563) นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม รองผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ฝ่ายปฏิบัติการ เปิดเผยว่า เป็นเวลากว่า 3 เดือน ที่ไม่มีไฟลท์บินจากต่างประเทศ มาลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จากกรณีที่รัฐบาลจะนำร่องภูเก็ตเปิดประเทศ ท่าอากาศยานได้เตรียมความพร้อมเรื่องมาตรการความปลอดภัย การควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
โดยในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 มีไฟลท์บินระหว่างประเทศมากกว่า 200 เที่ยวบิน ต่อวัน ปัจจุบันมีเพียงไฟท์บินที่เข้ามาด้วยความจำเป็น เช่น รับคนกลับประเทศ ส่วนเที่ยวบินภายในประเทศเดิมมี 100 เที่ยวบินต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 50 เที่ยวบินต่อวัน ทั้งยังมีผู้โดยสารไม่เต็มลำ แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยยังคงมาตรการช่วยเหลือสายการบินต่างๆ ในการลดค่าเช่าเคาท์เตอร์สนามบินลง 50 เปอร์เซนต์ และค่ารันเวย์อีก 50 เปอร์เซนต์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน ที่ได้รับผลกระทบ
ด้าน พญ.ดารุณี บุตรอินทร์ สำนักแพทย์ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต กล่าวว่า มาตรการคัดกรองยังคงทำตามขั้นตอนที่ ศบค.กำหนดรับกลุ่มชาวต่างชาติ 11 กลุ่มที่ได้รับอนุญาต โดยจะต้องตรวจเรื่องการทำประกันสุขภาพ หนังสือเดินทางเข้าประเทศ รวมถึงใบรับรองการตรวจ COVID-19 ในรอบ 72 ชั่วโมง ของกลุ่มชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา
โดยหลังจากที่มีนโยบายนำร่องเปิดประเทศที่จ.ภูเก็ต กรมควบคุมโรคได้เตรียมเครื่องตรวจโควิดด้วยวิธี swab ซึ่งท่าอากาศยานก็ได้แยกอีกอาคารรองไว้รับผู้โดยสารที่ต้องเข้ารับการตรวจ และพักคอยผลการตรวจเป็นเวลา 90 นาที
ส่วนมาตรการป้องกันควบคุมโรคอื่นๆ เน้นเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม การจัดจุด alcohol ล้างมือ และการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายทุกประตูทางเข้าออก และตั้งหน่วยทีมแพทย์พยาบาลในการติดตาม อาการที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง เช่น เป็นไข้ไอเจ็บคอ
ทั้งนี้มีแผนเผชิญเหตุ หากพบว่ามีนักท่องเที่ยวติด COVID-19 สัมผัส เดินผ่าน ภายในท่าอากาศยาน จะต้องกักตัวพนักงานที่ทำงานใกล้ชิดทันที ให้ทำงานอยู่ที่บ้านเพื่อเฝ้าดูอาการ 14 วัน
“ยืนยันว่าท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตมีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ที่จะกลับมาตามมาตรการนำร่องเปิดประเทศของทางรัฐบาล และดำเนินการอย่างรัดกุม โดยท่าอากาศยานจะไม่ใช่จุดเสี่ยงของการแพร่ระบาดอย่างแน่นอน”