เปิดร่างพ.ร.บ.ตำรวจฉบับผ่านครม.-สกัดแต่งตั้งไม่เป็นธรรม

การเมือง
15 ก.ย. 63
16:30
9,842
Logo Thai PBS
เปิดร่างพ.ร.บ.ตำรวจฉบับผ่านครม.-สกัดแต่งตั้งไม่เป็นธรรม
ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แบ่ง 5 สายงาน พร้อมมอบ ก.ตร.เคร่งครัดหลักเกณฑ์แต่งตั้ง -เลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจน โดยเฉพาะสายงานสอบสวนให้เติบโตตามความสามารถ สกัดการใช้ดุลยพินิจ ระบุโทษแต่งตั้งไม่เป็นธรรมจำคุกไม่เกิน 5 ปี

วันนี้ (15 ก.ย.2563) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบ ใน 9 ประเด็น คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป สำหรับร่างพระราชบัญญัติ ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ...เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

​​1. กำหนดหน้าที่และอำนาจของ ตช.ไว้เช่นเดิม แต่มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตช.ได้แก่ ภารกิจของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎ หมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภารกิจงานจราจรเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการจราจร ไปให้แก่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นรับไปดำเนินการ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการโอนแต่ละภารกิจ และโอนอัตรากำลังนั้นไปปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจหลักของ ตช.

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ ก.ตร.พิจารณาทบทวนหน้าที่และอำนาจของ ตช. ในส่วนที่มีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตหรือการจดทะเบียน โดยหากพิจารณาแล้วเห็นว่าที่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ตช.มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวไว้ ให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

แบ่งสถานีตำรวจเป็น 3 ระดับ

​2. การจัดระเบียบราชการใน ตช.กำหนดให้ในการแบ่งส่วนราชการของ ตช. อย่างน้อยต้องมีหน่วยงาน ดังนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค กองบังคับการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรจังหวัด และสถานีตำรวจ เพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการบริการและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยตรง และกำหนดให้ตช.ต้องจัดอัตรากำลังให้แก่สถานีตำรวจและตำรวจภูธรจังหวัดตามลำดับให้ครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังก่อน

มีการกำหนดระดับของสถานีตำรวจออกเป็น 3 ระดับ สถานีตำรวจที่มีผู้กำกับการ และสถานีตำรวจที่มีรองผู้กำกับการหรือตำแหน่งเทียบเท่า คำนึงถึงปริมาณงาน ความหนาแน่นของประชากรในเขตรับผิดชอบ จำนวนอัตรากำลังและสถานที่ตั้งของสถานีตำรวจ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน

เปิดหลักเกณฑ์งานบุคคล-แต่งตั้งโยกย้าย

นอกจากนี้ ประเด็นที่ 3.การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ กำหนดหลักการในการบริหารงานบุคคล ดังนี้ ​​​3.1 แบ่งข้าราชการตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าราชการตำรวจที่มียศ และข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ  3.2 แบ่งสายงานออกเป็น 5 กลุ่มสายงาน คือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ เพื่อให้เกิดการสร้างความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานและเป็นการสร้างความก้าวหน้าในสายงาน

​​​3.3 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายว่าการจะแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดจะต้องเป็นข้าราชการตำรวจยศใด และเคยดำรงตำแหน่งใดมาแล้วจำนวนกี่ปี และในการแต่งตั้งจะต้องคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง ความรู้ความสามารถที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา

​​​3.4 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถเติบโตก้าวหน้าในสายงานตามความรู้ความสามารถได้

​​​3.5 กำหนดให้ข้าราชการตำรวจสามารถร้องทุกข์ ต่อ ก.พ.ค.ตร. ในกรณีที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโสหรือในการแต่งตั้ง รวมทั้งกำหนดบทลงโทษผู้ที่กระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่ง โดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

​​​3.6 กำหนดห้ามมิให้สั่งให้ข้าราชการตำรวจที่สังกัดสถานีตำรวจหรือตำรวจภูธรจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่น เว้นแต่ในคำสั่งนั้นจะสั่งให้ข้าราชการตำรวจอื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจแทน

นอกจากนี้ หากผู้บังคับบัญชาผู้ใดรู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มาปฏิบัติราชการติดต่อกันเกิน 15 วันโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจผู้นั้น เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

บอร์ดก.ตร.-ผู้ทรงคุณวุฒิต้องอิสระ-งดถูกครอบงำ

​​สำหรับประเด็นที่ 4. คณะกรรมการข้าราชการตำรวจกำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการที่เป็นข้าราชการตำรวจ ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจเรตำรวจแห่งชาติ และมีกรรม การโดยตำแหน่ง 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการก.พ.อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน

ทำหน้าที่ทั้งในการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์การบริหารราชการตำรวจและกำกับดูแล ตช. ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจและกำกับดูแลการแต่งตั้ง และโยกย้ายข้าราชการตำรวจทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และกฎ ก.ตร.อย่างเคร่งครัด

มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกกรรมการก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันในการได้มาซึ่งกรรมการ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ โดยปราศจากการครอบงำหรือการแทรกแซง

5. คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการร้องทุกข์ที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา โดยมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะต่อ ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร. ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ และพิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม

ทั้งนี้ ก.พ.ค.ตร.จะประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือก ก.พ.ค.ตร. และเป็นผู้ซึ่งสามารถทำงานได้เต็มเวลา เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวมีความเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ก.ตร.

ตั้งบอร์ดรับร้องเรียนตำรวจ

​​6.คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของตำรวจหรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสีย และกระทำผิดวินัยของตำรวจ

โดย ก.ร.ตร.ประกอบด้วยประธานและกรรมการ ซึ่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากภาคส่วนต่างๆ รวมจำนวน 9 คน และมีจเรตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ

7. การให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริหารงานในตช. โดยกำหนดให้ ตช. จัดระบบบริหารงานให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและชุมชนและกำหนดให้เงินอุดหนุนที่ อปท. จัดสรรให้แก่สถานีตำรวจให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ และกิจการในสถานีตำรวจนั้น

นอกจากนี้ ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือตำรวจภูธรจังหวัด จัดให้มีแผนหรือมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชน โดยให้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าสถานีตำรวจ อปท. และชุมชน และเมื่อ ก.ตร. และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนหรือมาตรการดังกล่าวแล้วให้สำนักงบประมาณ และ ตช. พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามแผนหรือมาตรการดังกล่าว

​​8. กองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา จัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อสนับ สนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ และ ​​9. บัญชีอัตราเงินเดือน ปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการรับเงินเดือนของข้าราชการตำรวจ โดยตัดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในระดับที่ไม่ได้มีการรับในอัตรานั้นออก แต่ไม่ได้เป็นการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนแต่อย่างใด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คาดรัฐบาลดัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เข้าครม.อังคารหน้า

เปิด 14 ข้อสังเกต สตช.ค้าน พ.ร.บ.ตำรวจฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง