สันนิษฐานฝูงวาฬเกยตื้น "สัญชาตญาณรวมฝูง-คลื่นโซนาร์"

ต่างประเทศ
24 ก.ย. 63
12:50
6,421
Logo Thai PBS
สันนิษฐานฝูงวาฬเกยตื้น "สัญชาตญาณรวมฝูง-คลื่นโซนาร์"
ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา วาฬนำร่องกว่า 470 ตัว เกยตื้นที่ชายฝั่งเกาะแทสมาเนีย กลายเป็นเหตุการณ์วาฬเกยตื้นครั้งใหญ่ของออสเตรเลีย แม้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากตัววาฬ หรือผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์

วันนี้ (24 ก.ย.2563) วาฬนำร่องที่เกยตื้นพร้อมกันกว่า 470 ตัวและขณะนี้ตายไปแล้วร่วม 400 ตัว นำมาซึ่งข้อสงสัยถึงสาเหตุและเกิดการตั้งคำถามว่าเหตุใดปรากฏการณ์เช่นนี้จึงมักเกิดซ้ำๆ ในสถานที่เดิมๆ โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นทางตะวันตกของเกาะแทสมาเนียที่อยู่ทางใต้ของออสเตรเลีย บริเวณที่เรียกว่า Macquarie Heads และวาฬส่วนใหญ่เกยตื้นอยู่บนสันดอนทราย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายที่ที่วาฬมักไปเกยตื้น เช่น ทางตะวันตกของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือในแถบอเมริกาใต้

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า วาฬนำร่องที่มาเกยตื้นกว่า 470 ตัวในครั้งนี้อาจมาจากฝูงเดียวกัน ซึ่งจริงๆ แล้วการเกยตื้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างโลมา หรือวาฬ หากเกิดขึ้นแบบ 1-2 ตัวถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบางครั้งอาจเกิดจากการล่าเหยื่อใกล้ฝั่งมากเกินไป แต่เมื่อเกยตื้นเป็นฝูงใหญ่จึงมักมีสมมติฐานอื่นมาเกี่ยวข้อง

สันนิษฐานสาเหตุฝูงวาฬเกยตื้น

สาเหตุหลักๆ หากมาจากตัววาฬเอง อาจเป็นเพราะวาฬนำร่องเป็นสัตว์สังคม มีความสัมพันธ์ในฝูงที่เหนียวแน่นมาก ดังนั้นหากมีวาฬตัวหนึ่งบาดเจ็บหรือไม่สบาย จนว่ายน้ำผิดทิศผิดทางและไปเกยตื้น สมาชิกของฝูงที่เหลือก็จะว่ายตามกันมาและถูกคลื่นซัดจนเกยตื้นในที่สุด หรือหากมีวาฬที่ป่วยจนว่ายหลงทางไปเกยตื้น แล้วส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ วาฬทั้งฝูงก็อาจจะว่ายตามเสียงนั้นมาจนเกยตื้นได้เช่นกัน

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของบริเวณที่เป็นแหลม คาบสมุทร หรือหาดที่ค่อยๆ ลาดชันลงไปในทะเล จะทำให้ระบบการใช้เสียงนำทาง หรือโซนาร์ ของวาฬทำงานได้ไม่ดีนัก เสมือนกับคนหลงทาง จนทำให้พวกมันว่ายมาเกยตื้นพร้อมกันทั้งฝูง

 

ส่วนอีกสาเหตุที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ซึ่งมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในสเปนเมื่อปี 2562 ที่พบว่าอุปกรณ์โซนาร์ที่มนุษย์ใช้สำรวจใต้ทะเลหรือใช้ทางการทหาร ซึ่งมีกลไกการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงนั้น อาจทำให้วาฬตกใจและพยายามหนีจนเกิดอาการน้ำหนีบได้

ปกติการดำน้ำลึกของวาฬจะต้องลดอัตราการเต้นของหัวใจลง เพื่อลดการใช้ออกซิเจนและทำให้ไนโตรเจนไม่สะสมในกระแสเลือด แต่เมื่อตกใจและพยายามหนีจากคลื่นโซนาร์ วาฬจะลนลานจนเสียศูนย์และทำให้ไนโตรเจนไปสะสมในเส้นเลือดจนกลายเป็นฟองอากาศเมื่อวาฬลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ เหมือนอาการน้ำหนีบที่เกิดในนักประดาน้ำและทำให้วาฬเกยตื้นตายได้


นอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้คือ มลพิษในน้ำที่อาจเกิดจากสาหร่ายสีแดงขนาดเล็กที่เพิ่มจำนวนขึ้นตามธรรมชาติ หรือเหตุน้ำมันรั่วที่ส่งผลกระทบต่อวาฬ ซึ่งทั้งหมดนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้วาฬเกยตื้นเป็นฝูง

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า ไม่ควรด่วนสรุปว่าปรากฏการณ์นี้เป็นฝีมือมนุษย์ เพราะจริงๆ แล้ววาฬนำร่องอาจจะเกยตื้นมานานมากแล้วก็เป็นได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของออสเตรเลีย ประกาศว่า จะปฏิบัติการช่วยเหลือวาฬที่เกยตื้นต่อไปเท่าที่ยังมีวาฬที่หายใจอยู่ แต่ในขณะเดียวกันต้องเฝ้าระวังไม่ให้วาฬที่ช่วยเหลือได้แล้วกลับมาเกยตื้นซ้ำอีก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งช่วยฝูง "วาฬ" เกยตื้นเกาะแทสมาเนีย พบตายแล้ว 90 ตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง