วันนี้ (27 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากความเป็นไปได้ที่ท่อก๊าซอาจผุกร่อนจากปฏิกริยาเคมี ทั้งภายในและภายนอกท่อ หลักฐานการสำรวจ อัตราการทรุดตัวของแผ่นดินในพื้นที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เฉลี่ยปีละ 90-100 เซนติเมตรในเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งลักษณะพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว อุ้มน้ำ ยังนำมาสู่การตั้งข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมว่า อาจเป็นสาเหตุให้ท่อก๊าซถูกกดทับ องศาเปลี่ยน แตกหัก และเกิดเหตุระเบิดรุนแรงในที่สุด
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ระบุว่า บริเวณ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เป็นเขตแผ่นดินทรุดอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งการวางท่อจะใช้วีธีการดันและการดึงเป็นท่อลอด ทำให้มีน้ำขังและมีโอกาสทรุดได้ ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนัก ทำให้ดินทรุด ประกอบกับท่อเก่า มีการกัดกร่อน จึงอาจเกิดการรั่วไหลได้
ความสูญเสียจากแรงระเบิดและความร้อนที่กินรัศมีหลายร้อยเมตรจากจุดเกิดเหตุ ยังถูกตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในการวางแนวท่อก๊าซใกล้ชุมชน และตามแนวสายไฟฟ้าแรงสูงที่บริษัท ปตท.เป็นผู้ทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

นักวิชาการด้านยิ่งแวดล้อมยังเสนอให้กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานที่อนุญาตทำการตรวจสอบรายงาน EIA และมาตรฐานการทำงานของ ปตท.อย่างเร่งด่วนที่สุด รวมทั้งจัดรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและประชาชน ถึงแนวทางปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยในแนวท่อส่งก๊าซ พร้อมกับเปิดเผยแนววางท่อก๊าซในประเทศไทยเป็นข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ท่อส่งก๊าซระเบิด ใกล้ สภ.เปร็ง จ.สมุทรปราการ
เสียชีวิต 3 บาดเจ็บ 52 คนเหตุท่อก๊าซบึ้ม
เพลิงสงบ! ปตท.เร่งหาปมท่อก๊าซฯ ระเบิดบางบ่อ