THE EXIT : ผลกระทบค้ำประกันเงินกู้ กยศ. ถูกยึดทรัพย์-บังคับคดี

สังคม
20 พ.ย. 63
15:41
14,969
Logo Thai PBS
THE EXIT : ผลกระทบค้ำประกันเงินกู้ กยศ. ถูกยึดทรัพย์-บังคับคดี
ผู้ค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ต้องทุกข์ใจ หลังผู้กู้เงินค้างชำระหนี้ เพราะผู้ค้ำประกันต้องถูกยึดทรัพย์ หลายกรณีผู้ค้ำต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อที่ดินกลับคืนมาในราคาที่สูงกว่ามูลหนี้หลายเท่าตัว

ที่ดิน 53 ตารางวา ในเขตตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี ของนางธนวรรณ ชุมแวงวาปี ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดอุดรธานี นำป้ายมาปิดประกาศเพื่อขายตลาดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากเธอถูกศาลแขวงอุดรธานีฟ้องร้องคดีแพ่ง ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้กับ น.ส.น้ำฝน เมื่อปี 2539 โดยมูลหนี้ที่นางธนวรรณ ค้ำประกันจำนวน 18,000 บาท แต่ที่ผ่านมา น.ส.น้ำฝน ผู้กู้ กลับไม่ชำระหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ทำให้เธอซึ่งเป็นผู้ค้ำ ถูกฟ้องร้องและถูกยึดโฉนดที่ดินเพื่อขายทอดตลาด
เช่นเดียวกับที่ดินอีกแปลงเนื้อที่ 70 ตารางวา ในเขตตำบลบ้านเลือม ก็ถูกกรมบังคับคดีอายัดไว้เช่นกัน หลังนำไปค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ให้กับลูกศิษย์อีกคน โดยวงเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับประมาณ 25,000 บาท

 

นางธนวรรณ อดีตครูเกษียณจากราชการ กล่าวว่า ย้อนไปปี 2539-2544 เธอได้ค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ให้กับลูกศิษย์ เฉลี่ยปีละ 4-5 คน เพราะครอบครัวของลูกศิษย์อยู่ต่างจังหวัด บางครอบครัวพ่อแม่แยกทางกัน เธอเองก็มีภาระที่ต้องใช้จ่ายในวัยเกษียณ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้

หลังจากถูกศาลฟ้องร้องและบังคับคดี เธอก็เริ่มติดต่อกลับไปหา น.ส.น้ำฝน แต่น้ำฝนเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ ทางครอบครัว น.ส. น้ำฝน ก็ปฏิเสธที่จะชำระหนี้แทน เธอได้พยายามอธิบายปัญหาและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ในที่สุดครอบครัวของ น.ส.น้ำฝน ยอมนำเงินไปชำระหนี้ให้จำนวน 25,000 บาท

เมื่อก่อนเขาบอกว่า เขาส่ง กยศ.ต่อเนื่อง แต่ต่อมาเขามาสังเกตว่า ยอดหนี้ไม่ลดลงเลย ทั้งๆ ที่เขาจ่ายหนี้ตลอด เป็นแบบนี้เขาก็เลยไม่จ่าย เพราะยอดมันไม่ลด ก็เลยถูกฟ้อง

THE EXIT ได้พบครูวัยเกษียณอีกคน ที่ประสบปัญหาค้ำประกันเงินกู้ กยศ. เธอค้ำประกันเงินกู้ กยศ. 10,000 บาทให้หลานชาย แต่หลานชายไม่ชำระหนี้ จึงถูกฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ และบังคับคดี

บ้านและที่ดินของเธอถูกประเมินตามมูลค่าหนี้ 50,000 บาท ซึ่งกรมบังคับคดีออกหมายเรียก 4 นัดในการซื้อขายที่ดินแปลงนี้ แต่เธอไม่ได้นำเงินไปวางเพื่อสู้ราคาซื้อที่ดินแปลงนี้กลับคืนมา สุดท้ายถูกนักซื้อซื้อไป โดยนักซื้อได้ขายบ้านพร้อมที่ดินแปลงของเธอในราคากว่า 300,000 บาท แต่เธอต่อรองและซื้อทรัพย์คืนมาได้ในราคา 250,000 บาท 

 

นายชนะ พรหมพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดี จังหวัดมหาสารคาม ให้ข้อมูลว่าหากครบกำหนดการชำระหนี้ กยศ. ระยะเวลา 10 ปี ผู้กู้ยังเพิกเฉย ทาง กยศ.จะฟ้องร้องดำเนินคดีและนำไปสู่การยึดทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทรัพย์ที่ถูกยึดจะเป็นของผู้ค้ำประกันมากกว่าร้อยละ 90 เพราะเป็นผู้ที่มีทรัพย์สิน โดยเฉพาะบ้านและที่ดิน ส่วนรถยนต์แม้ว่าผู้กู้จะปลอดภาระ แต่ กยศ.เลือกที่จะไม่ยึดทรัพย์สินประเภทนี้ เพราะเสื่อมราคาและขายทอดตลาดได้ยาก

พร้อมเตือนผู้กู้และผู้ค้ำประกันต้องใส่ใจในคดีที่ถูกฟ้องแพ่งมากขึ้น โดยเฉพาะคดีเงินกู้ กยศ.ขณะนี้ยังมีผู้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

นายชนะ กล่าวว่ากลุ่มนักซื้อที่เป็นนายทุน จะติดตามการขายทอดตลาดจากกลุ่มนี้เป็นหลัก จะนำเงินไปวางค้ำประกันในการร่วมประมูล ยิ่งคดีไม่มีเจ้าของทรัพย์ไปร้องคัดค้าน ก็จะซื้อได้ง่าย จากนั้นกลุ่มนักซื้อจะลงพื้นที่ไปตามหมู่บ้าน เพื่อติดต่อเจ้าของทรัพย์โดยตรง เพื่อให้ซื้อทรัพย์คืนในราคาที่สูงกว่ามูลหนี้หลายเท่าตัว

 

ข้อมูลจากสำนักงานบังคับคดี จังหวัดมหาสารคาม พบว่าปี 2563 มีคดี กยศ.รวม 540 คดี อยู่ระหว่างยึด 67 คดี อยู่ระหว่างอายัด 116 คดี และอยู่ระหว่างขาย 357 คดี ซึ่งมูลหนี้ส่วนใหญ่จำนวนไม่มาก แต่เมื่อถูกขายทอดตลาดและมีนายทุนเข้ามาช้อนซื้อ ราคาจะพุ่งเกือบเท่าตัว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 THE EXIT : สวมชื่อค้ำกู้เงิน กยศ.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง