สรุปเหตุวุ่นวาย ประชุมรับรองผลเลือกตั้ง "ประธานาธิบดีสหรัฐฯ"

ต่างประเทศ
7 ม.ค. 64
13:27
1,300
Logo Thai PBS
สรุปเหตุวุ่นวาย ประชุมรับรองผลเลือกตั้ง "ประธานาธิบดีสหรัฐฯ"
สรุปเหตุการณ์ความวุ่นวายที่รัฐสภาสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมรับรองผลการเลือกตั้ง ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 1 คน ก่อนรัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิว

วันนี้ (7 ม.ค.2564) การประชุมร่วมสองสภาระหว่างสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และวุฒิสภา เพื่อนับคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง และประกาศรับรองผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งปกติเป็นพิธีการ และไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง แต่ในการประชุม 6 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา กลายเป็นความวุ่นวาย เมื่อผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ รวมตัวหน้าทำเนียบขาว และบุกเข้าไปอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ

มีรายงานผู้สนับสนุนทรัมป์ ถูกยิงเสียชีวิต 1 คน แต่ยังไม่มีรายละเอียด ขณะที่ตำรวจ และผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และการประชุมสามารถกลับมาดำเนินการได้ ราว 20.00 น. ตามเวลาสหรัฐฯ

 

ราว 1 สัปดาห์ ก่อนหน้าการประชุมรับรองผลการเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ ทวิตข้อความ เชิญชวนให้ผู้สนับสนุนเดินทางมาร่วมประท้วงที่กรุงวองชิงตันดีซี ภายใต้ชื่อการประท้วงว่า Save America March การเดินขบวนเพื่อเมริกา

โดยย้ำมาตลอดว่า ชาวอเมริกันถูกขโมยผลการเลือกตั้ง ให้มาร่วมประท้วงคัดค้านการรับรองผล และเขาจะร่วมการประท้วงด้วย พร้อมระบุว่า “be wild!” ที่ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการยุยง ปลุกปั่นการใช้ความรุนแรง

ทั้งนี้ข้อกล่าวหา เรื่องการโกงการเลือกตั้ง ไม่เคยมีการนำเสนอหลักฐานที่น่าเชื่อถือ มีความพยายามเดินหน้าทางกฎหมายราว 60 คดี แต่ส่วนใหญ่ไม่สั่งฟ้อง หรือยกฟ้อง เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอ และไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง

 

เวลา 12.00 น. ตามเวลาสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นปราศรัย ปลุกระดมผู้สนับสนุน บริเวณหน้าทำเนียบขาว ว่าเขาจะไม่ยอมแพ้การเลือกตั้ง ชักชวนให้ผู้สนับสนุนเดินไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อกดดันการรับรองผลการเลือกตั้ง

ภายหลังมีรายงานว่า ทรัมป์ ไม่ได้ร่วมเดินทางไปกับผู้ประท้วง แต่กลับไปยังทำเนียบขาวเพื่อติดตามสถานการณ์

เวลา 13.00 น. EST การประชุมร่วมสองสภาเริ่มขึ้น แต่ไม่ถึง 20 นาที ส.ส.เดโมแครตประท้วงผลการเลือกตั้งที่รัฐแอริโซนา การประชุมต้องยุติชั่วคราว เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ประชุมแยกเพื่อหาข้อสรุป ระหว่างนั้นสถานการณ์ภายนอกอาคารรัฐสภาตึงเครียด ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกัน เข้าไปภายในอาคาร

เวลา 14.30 น. EST ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ ปะทะและใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ อีกด้านตำรวจอพยพ ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าที่อาคารรัฐสภา และสื่อมวลชน ไปยังพื้นที่ปลอดภัย

 

เวลา 14.59 น. EST ผู้ประท้วงบุกเข้าไปภายในอาคารรัฐสภาได้ บางส่วนมีอาวุธ เข้าทำลายทรัพย์สินในอาคาร ยึดห้องทำงานของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และมีรายงานว่าพบระเบิดไปป์บอม ภายในที่ทำการพรรครีพับลิกัน เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้

ระหว่างเหตุวุ่นวายภายในอาคารรัฐสภา มีรายงานว่า ผู้ประท้วงหญิงคนหนึ่งถูกยิง ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่สำนักข่าว ABC รายงานว่าจากเหตุความวุ่นวายมีผู้เสียชีวิต รวม 4 คน ผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

 

เวลา 15.00 น. EST เมอรีล โบเซอร์ นายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน ดีซี ประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งจะมีผลเวลา 18.00 น. ตำรวจของอาคารรัฐสภาเข้าควบคุมสถานการณ์ และมีการร้องขอกองกำลัง National Guard เข้าควบคุมสถานการณ์

เวลา 16.00 น EST ไมค์ เพนซ์ รอง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวิตข้อความ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยุติความวุ่นวายทันที และเตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายเต็มที่กับผู้ที่ก่อความวุ่นวาย

ด้าน แนนซี เพโลซี ประธานวุฒิสภา และชัค ชูเมอร์ ประธานวุฒิสมาชิกฝากเดโมแคตร ออกแถลงการณ์ถึง โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ทรัมป์ สั่งการให้กลุ่มผู้สนับสนุนออกจากพื้นที่อาคารรัฐสภาทันที

 

ขณะที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้ง แถลงตรงไปยังทรัมป์ ให้ทำหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยการออกมาแถลงถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ให้ผู้ชุมนุมหยุดการก่อความวุ่นวาย และออกจากพื้นที่อาคารรัฐสภา

เวลา 16.30 น EST โดนัลด์ ทรัมป์ ทวิตวิดีโอที่อัดไว้ล่วงหน้า ส่งสารถึงผู้สนับสนุนเนื้อความว่า “เข้าใจความโกรธแค้น ความเจ็บช้ำของกลุ่มผู้สนับสนุน เพราะถูกปล้นการเลือกตั้ง แต่ขอให้กลับบ้าน” ท่าทีเช่นนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากจากสื่อ ว่าไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ราว 1 ชั่วโมงหลังความวุ่นวาย ตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ และ 18.00 ประกาศเคอร์ฟิว มีผลบังคับใช้

 

เวลา 19.02 น EST ทวิตเตอร์ ปิดการใช้งานบัญชี ของทรัมป์ 12 ชั่วโมง เพราะละเมิดนโยบายสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างรุนแรง จากการปลุกปั่น สร้างความรุนแรงแรง โดยบัญชีของทรัมป์จะกลับมาใช้งานได้เมื่อลบข้อความยุยง ปลุกปั่น

เวลา 20.00 น. ส.ส. และ ส.ว. เริ่มการประชุมอีกครั้ง ด้านผู้นำประเทศต่าง ๆ สะท้อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าเศร้า น่าอับอาย และไม่เคยเห็นในสหรัฐฯ

ขณะนี้มี ส.ส. และ ส.ว.จากพรรคเดโมเครต และรีพับลิกันบางส่วน เรียกร้องให้ไมค์ เพนซ์ เดินหน้ากระบวนการถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง