รฟม.ชี้แจงปม "สามารถ" ตั้งข้อสังเกตค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มแพง

เศรษฐกิจ
25 ม.ค. 64
10:27
225
Logo Thai PBS
รฟม.ชี้แจงปม "สามารถ" ตั้งข้อสังเกตค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มแพง
รฟม.ชี้แจงหลัง "สามารถ" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ เฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มจะมีอัตราค่าโดยสารใกล้เคียงกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว คาดอัตราสูงสุดไม่เกิน 45 บาท

วันนี้ (25 ม.ค.64) การรถไฟ​ฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยชี้แจง​หลัง​นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์​ ระบุว่า​ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แพงกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังจากก่อนหน้านี้​ นายสามารถ โพสต์​เฟซบุ๊กเมื่อวันที่​ 23 ม.ค.​ที่ผ่านมา​ โดยระบุว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีส้มพอๆ กับสายสีเขียว  ที่ กระทรวงคมนาคม แย้งว่าแพง” นั้น

นายภคพงศ์​ ศิริกันทรมาศ​ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า​ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ระบุอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 เริ่มต้นที่ 17 บาท คิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3 – 4 บาท/สถานี โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท เมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานี ขึ้นไป เป็นอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ ของ รฟม.ที่มีสมมติฐานกำหนดเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี พ.ศ. 2566 - 2567

เอกสารการระบุ​อัตราค่าโดยสาร​ มีจุดประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับเอกชนทุกรายใช้อ้างอิงในการประเมินรายได้ของเอกชนเพื่อจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการฯ และเพื่อ ​รฟม.จะสามารถประเมินรายละเอียดข้อเสนอของเอกชนแต่ละรายบนบรรทัดฐานกัน​ ดังนั้นอัตราค่าโดยสารข้างต้นจึงไม่ใช่อัตราค่าโดยสารที่ รฟม.จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเปิดบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เนื่องจาก รฟม.ได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดในการปรับลดอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ และประชาชนยอมรับได้

ดังนั้นกรณีที่กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดที่ 104 บาท โดยพิจารณาเทียบกับระยะทาง 84 กม.คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ยเพียง 1.23 บาท/กิโลเมตร จึงอาจไม่ได้สะท้อนค่าโดยสารจริงที่ประชาชนพึงพอใจในการจ่ายค่าเดินทาง เนื่องจากไม่ได้นำปัจจัยด้านพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารมาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ รฟม.คาดการณ์อัตราค่าโดยสารเมื่อเปิดให้บริการโครงการสายสีส้มส่วนตะวันออก ในปี 2567 โดยใช้สมมติฐานที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปี​ จะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นอยู่ที่ 15 บาท และมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 45 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง