ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดใจ นศ.ไทยสร้างชื่อออกแบบโลโก้ Super Bowl 2021

ไลฟ์สไตล์
6 ก.พ. 64
10:08
4,668
Logo Thai PBS
เปิดใจ นศ.ไทยสร้างชื่อออกแบบโลโก้ Super Bowl 2021
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ "พัชณิษฐ์ ศรีวิโรจน์" หรือ เชอร์รี่ นักศึกษาฝึกงานคนไทย สาขากราฟิก ดีไซน์ เจ้าของผลงานโลโก้เมืองเจ้าภาพการแข่งขัน Super Bowl 2021 อวดฝีมือคนไทยสู่วงการอเมริกันฟุตบอล

ระหว่างท่องหน้าเฟซบุ๊กในวันหนึ่ง นิ้วก็ไปหยุดอยู่ที่โพสต์ของ Cherry Patchanit  "พัชณิษฐ์ ศรีวิโรจน์" หรือ เชอร์รี่ รุ่นน้องในทีมบาสเกตบอลช่วงมัธยมปลาย ซึ่งหลายต่อหลายครั้งเรื่องราวในเฟซบุ๊กของรุ่นน้องคนนี้น่าประทับใจจนดึงความสนใจจากสายตาที่กำลังกวาดไปบนหน้าจอโทรศัพท์ได้เสมอ และครั้งนี้ก็เช่นกัน

"นี่บอกอยู่ตลอดว่า ถ้าไม่เด่นไม่ดังจะไม่หันหลังกลับไป! และวันนี้ดิช้อนทำได้แล้วนะคะ ทุกโค้นนนนน!!! My precious “Sailling Ship” logo is now displayed everywhere in Downtown Tampa during the  week!!! โลโก้ลูกรักที่ตั้งใจปั้นมากๆ ได้ออกสู่สายตาประชาชีแล้วแหละทุกคน!"


เชอร์รี่ ในวัย 24 ปี อวดภาพถ่ายคู่โลโก้ในงาน "Super Bowl Experience" 3 ภาพถ้วน พร้อมเล่าเรื่องราวอีกมากมายเกี่ยวกับที่มาของโลโก้ผ่านเฟซบุ๊ก สร้างแรงจูงใจให้ตัดสินใจติดต่อสัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นความสำเร็จนี้ให้มากขึ้น เชอร์รี่ตกลงอย่างไม่อิดออด พร้อมบอกว่า กว่าโลโก้นี้จะออกมาสำเร็จ นอกจากความตั้งใจและพยายามแล้ว หลายอย่างมันบังเอิญไปหมด

บังเอิญ โลกกลม คนลิขิต

บังเอิญอย่างแรก คือ เชอร์รี่ ที่เป็นนักศึกษาจากยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ แทมปา ในสาขากราฟิก ดีไซน์ เมื่อปี 2019 กระจายใบสมัครเพื่อฝึกงานกับเอเจนซี่ 3-4 เจ้า แต่กลับถูกปฏิเสธทั้งหมด จนได้รับการติดต่อจากบริษัท Schifino Lee เอเจนซี่ที่ได้รับงานออกแบบโลโก้ Super Bowl โดยวันแรกที่ไปทำงานบริษัทได้เสนอให้ลองออกแบบโลโก้เพื่อร่วมโปรเจ็กนี้ ซึ่งเชอร์รี่ก็ตอบตกลงทันที เพราะ Super Bowl ถือเป็นงานที่ใหญ่มาก


บังเอิญอย่างที่ 2 คือ Super Bowl 2021 จริงๆ แล้วมีกำหนดจัดการแข่งขันรอบสุดท้ายที่แอลเอ แต่กลับเกิดปัญหาด้านการดำเนินงานที่ล่าช้า ทำให้สุดท้ายตัดสินใจมาจัดการแข่งขันที่แทมปาแทน โดยโปรเจ็กโลโก้ที่เชอร์รี่ได้ออกแบบในครั้งนี้ เป็นโลโก้ของเมืองเจ้าภาพ คือ แทมปา ซึ่งเป็นโลโก้แยกจากโลโก้หลักของการแข่งขัน

คอนเซ็ปพรีเซนต์เมือง กับโลโก้ตัวเลข 5

ความบังเอิญกลายเป็นจุดเริ่มต้น โอกาสลอยมากองอยู่ตรงหน้า เชอร์รี่ไม่ลังเลที่จะบอกตัวเองว่า "ต้องเต็มที่ดูสักตั้ง" ลงมือหาเรฟเฟอเรนซ์ 2 วันเต็ม ก่อนจะวาดดราฟแรกของโลโก้ออกมาได้ เมื่อถึงวันพรีเซนต์งาน 3 คอนเซ็ปจากบริษัทที่เชอร์รี่ฝึกงาน ต้องมี 1 งานที่ถูกคัดออก แต่ลูกค้ากลับเลือกงานของเชอร์รี่ให้เข้ารอบพร้อมกับงานของเพื่อนนักศึกษาฝึกงานอีกคน และเอ่ยปากชมว่า "ชอบคอนเซ็ปของรี่มาก และอยากจะไปต่อกับคอนเซ็ปนี้ มันพรีเซนต์ความเป็นยูนีคของเมืองได้ดีมาก"


หลังจากปรับแก้ไขหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดก็ถึงวันที่ต้องเลือกระหว่าง 2 คอนเซ็ปสุดท้าย ซึ่งผลงานของเชอร์รี่ก็ได้เป็นโลโก้ที่ถูกเลือก ก่อนจะต้องไปหารือกับ NFL เพื่อโลโก้ดราฟสุดท้าย จนออกมาเป็นโลโก้ที่มีส่วนผสมของสีฟ้าถึง 60% เพราะแทมปาถือเป็นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับน้ำ ทั้งย่านท่องเที่ยวชื่อดังอย่างริเวอร์วอล์ค แอนด์ วอเตอร์ สตรีท และเทศกาลกาสปาริลล่า หรือเรือโจรสลัดที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ส่วนสีแดงเป็นสีของทีมเจ้าภาพอย่างแทมปา เบย์ บัคคาเนียร์


นอกจากนี้ โลโก้ยังถูกออกแบบให้เข้ากับการแข่งขัน Super Bowl ครั้งที่ 55 โดยใบเรือออกแบบให้มี 5 ใบ ท้องเรือที่เป็นฟุตบอล ก็เป็นเชือกถัก 5 ขีด อีกทั้งเชอร์รี่ยังต้องปรับเรือที่หันซ้ายในตอนแรก หลังสโลแกนของการแข่งขันออกมาระหว่างดราฟงานสุดท้ายว่า Forward . Forever . Together. มุ่งหน้าไปเรื่อยๆ ไม่หยุด จนต้องตัดสินใจกลับเรือ เพราะที่สหรัฐฯ การไปข้างหน้าคือต้องไปด้านขวา

ออกแบบโลโก้สเกลใหญ่อย่าง Super Bowl  มันเกินฝันมาก วันที่เห็นโลโก้ติดทั่วเมือง เพื่อนถ่ายรูปส่งมาให้ ทุกคนดีใจไปกับเราก็หายเหนื่อย ไปงาน Super Bowl Experience แฟนบอลที่ดูก็พูดว่าเรือนี่คือ กาสปาริลล่าสินะ เราก็ดีใจมาก ที่เขาเข้าใจสิ่งที่เราอยากจะสื่อออกไป

ผลงานของเชอร์รี่ถูกนำไปติดไปทั่วเมือง แทมปา เพื่อประชาสัมพันธ์การแข่งขัน “Super Bowl ครั้งที่ 55” รอบชิงชนะเลิศ  เป็นการพบกันระหว่าง แทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ส กับ แคนซัส ซิตี ชีฟส์ จัดขึ้นที่สนาม เรย์มอนด์ เจมส์ สเตเดียม เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา ในวันที่ 8 ก.พ.นีั เวลา 06.30 ตามเวลาประเทศไทย


หวังวงการดีไซน์ไทยไปไกลระดับโลก

ก่อนจะจบการพูดคุยกัน เชอร์รี่ เล่าด้วยเสียงหัวเราะว่า จากเด็กไทยที่ไม่รู้จักอเมริกันฟุตบอล ต้องยกเครดิตให้ลุงเขยที่เป็นบิ๊กแฟนของแทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ ทำให้ได้มีโอกาสไปชมการแข่งขันที่สเตเดี้ยม ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็แอบคิดลึกๆ ในใจว่า ถ้ามีงานออกแบบของตัวเองโชว์ไปทั่วสเตเดี้ยมต้องดีมากแน่ๆ ไม่คิดว่าวันหนึ่งฝันจะเป็นจริง


แม้การเริ่มงานอย่างจริงจังหลังเรียนจบต้องชะงักไปเพราะ COVID-19 ทำให้หลายบริษัทในสหรัฐฯ จ้างงานลดลง แต่ในอนาคตหลังรับผิดชอบงานสเกลใหญ่แล้ว เชอร์รี่หวังว่าจะยังเดินไปบนเส้นทางกราฟิกดีไซน์ต่อไป โดยอาจกลับมาทำงานที่ประเทศไทย เพราะความฝันที่รุ่นน้องคนนี้อยากเห็น คือ วงการดีไซน์ไทยไปไกลระดับโลก

ในไทยมีงานดีอยู่มาก ได้รับรางวัลก็เยอะ วงการดีไซน์มันบูมมากในสหรัฐฯ แต่ในไทยกลับรู้กันแค่คนในวงการ บางงานรู้สึกว่าเจ๋งมากแต่คนไม่สนใจ เลยอยากให้วงการดีไซน์หรือวงการโฆษณาของไทยไปได้ไกลกว่านี้ 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง