วันนี้ (11ก.พ.2564) เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ บุกเข้าตรวจค้นบ้านพักหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านย่านคลองสาม จ.ปทุมธานี ซึ่งเปิดเป็นบริษัทโมเดลลิ่ง มีพฤติกรรมหลอกลวงเด็กมากระทำอนาจาร และมีความพยายามจะข่มขืนล่วงละเมิดเด็ก
พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้รับเรื่องจากสำนักงานตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย (Australian Federal Police) เกี่ยวกับบุคคลสัญชาติไทยที่อาจมีพฤติการณ์ล่วงละเมิดทางเพศเด็กในพื้นที่ กทม. โดยได้รับข้อมูลเป็นภาพถ่ายโป๊เปลือยเด็กเพียงภาพเดียว จนนำมาสู่การปฏิบัติการแบบบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ซึ่งการสืบสวนตรวจภาพหาเบาะแสผู้ต้องหาคนหนึ่งได้ เมื่อกลางปี 2563
จากนั้นได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีในการตรวจวิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูลจากองค์กร Operation Underground Railroad (O.U.R.) มาโดยตลอด กระทั่งทราบเบาะแสว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดอีกอยู่ใน จ.ปทุมธานี นำสู่การขอหมายจับและบุกตรวจค้นจับกุมในวันนี้ โดยผลการตรวจค้นภายในบ้านพักที่ตั้งเป็นบริษัทชื่อเนเน่ โมเดลลิ่ง พบวัสดุ อุปกรณ์ จำพวกกล้องภ่ายภาพ จัดเซ็ตเป็นสตูดิโอ และพบไฟล์ภาพถ่าย วิดิโอ เด็ก จำนวนอย่างน้อย 500,000 รายการ
ฝากถึงผู้ปกครองหากจะนำบุตรหลานเข้าร่วมงานกับบริษัทโมเดลลิ่งต่าง ๆ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ หรือตรวจสอบผลงานบริษัทนั้น ๆ ย้อนหลัง เพื่อประกอบการพิจารณาความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุอีกว่า บริษัทนี้ถือเป็นโมเดลลิ่งเด็กที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย สอบสวนเบื้องต้น ผู้ต้องหาตามหมายจับยอมรับว่า เป็นเจ้าของบริษัท โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าว ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้, กระทำชำเรา และพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม, กระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม และพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร
นอกจากการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้มีการประสานกับองค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไร ได้แก่ องค์กร Operation Underground Railroad (O.U.R.), มูลนิธิเอ-ทเวนตี้วัน (A21 Foundation), องค์กร LIFT International, มูลนิธิพิทักษ์สตรี (AAT), TCLS Legal Advocate และศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม เพื่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงช่วยในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย