ผู้ประกอบการชี้มาตรการรัฐช่วยประคองเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ
18 ก.พ. 64
14:13
191
Logo Thai PBS
ผู้ประกอบการชี้มาตรการรัฐช่วยประคองเศรษฐกิจ
ตอนนี้รัฐบาลยังต้องเดินหน้าเยียวยาประชาชน จากผลกระทบโควิด-19 หนักมากจนเศรษฐกิจปีที่ผ่านมา ติดลบ ร้อยละ 6.1 ต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี นับตั้งเเต่วิกฤตต้มยำกุ้ง

บรรยากาศตลาดซอยละลายทรัพย์วันนี้ อาจพอสะท้อนถึงผลจากมาตรการ โดย ร้านค้าหลายห้อง ถูกทิ้งว่าง รอผู้เช่ารายใหม่ ขณะที่ ร้านค้า ที่ยังคงเปิดให้บริการ เข้าร่วมมาตรการรัฐ พร้อม ลด-แลก-แจก-แถม อย่างเต็มที่

ผู้ค้าบางส่วน ในตลาดละลายทรัพย์แห่งนี้ บอกว่า ผู้ประกอบการรายย่อย ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ จึงปรับตัวไม่ทัน และเห็นว่า มาตรการของรัฐ อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ได้ทั้งหมด แต่ก็พอบรรเทาผลกระทบ

โดยเฉพาะ โครงการคนละครึ่ง ช่วยให้ขายของได้บ้าง แต่หากมาตรการกระตุ้นการบริโภคสิ้นสุดลง ก็ไม่สนับสนุนให้กู้เงินเพิ่ม และเห็นว่าถึงเวลาที่ประชาชนทุกคน ต้องมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจ

เจ้าของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเด็ก บอกว่า โควิด-19 กระทบต่อกิจการเสื้อผ้าอย่างมาก แต่อีกด้าน ก็ได้นำผักสลัดชนิดต่างๆ จากสวนของตัวเอง มาจำหน่ายหน้าร้าน เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว และได้อานิสงส์ จากมาตรการ "คนละครึ่ง"

แต่จากการประเมินพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้ใช้สิทธิ์หลายคน ซึ่งใช้จ่ายจนเต็มสิทธิวงเงินแล้ว เริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายอีกครั้ง จึงกังวลว่า หากสิ้นสุดมาตรการ จะส่งผลกระทบต่อกิจการ

ด้าน พนักงานบริษัทเอกชน บอกว่า ตัวเองเป็นผู้เสียภาษีคนหนึ่ง ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ใดๆ จากมาตรการรัฐ ที่ผ่านมา ทั้งที่เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน

 

รัฐได้กู้เงินเพื่อประคองเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเฉพาะการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอยู่ที่ 955,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาก็ถูกใช้ไปเรื่อยๆ ในโครงการต่างๆ แต่ภายหลังมีการปรับสัดส่วนเงิน โดยการโยกเงินจากส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไปใส่ในส่วนการเยียวยาผลกระทบ 45,000 ล้านบาท ส่วนตอนนี้ เหลือเงินจะใช้ได้ 2 แสนกว่าล้าน

 

โครงการที่ใช้เงินกู้ แต่โครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นโครงการเยียวยาแรก ใช้เงินทั้งงบกลางและงบประมาณร่วมด้วย แต่โครงการอื่นๆ ใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ซึ่งการโยกเงินจากส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ถูกในนำไปใส่ใน "เราชนะ" 1 หมื่นล้านบาท และ "ม.33 เรารักกัน" 35,000 ล้านบาท

เบื้องต้นคาดว่า มาตรการพยุงเศรษฐกิจจะสิ้นสุดใกล้ๆ กลางปี ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อกับการมาของวัคซีน เศรษฐกิจก็ไม่น่าจะทรุดตัวมาก แต่สุดท้ายก็ต้องดูว่าเป็นอย่างที่คาดไว้หรือไม่ เพราะความไม่แน่นอนของการระบาดและการายวัคซีน ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามในปีนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง