วันนี้ (15 มี.ค.2564) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่า กรณีเสนอเลื่อนการโหวตให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ออกไปนั้น สมาชิกรัฐสภาสามารถเสนอญัตติซ้อนญัตติได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการหารือของสมาชิกรัฐสภา แต่ไม่ทราบว่าจะมีใครเป็นผู้เสนอหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระแล้ว วุฒิสภาก็จะต้องร่วมประชุมและไม่ว่าจะเห็นอย่างไรต้องแสดงความกล้าหาญในการโหวต ทั้งนี้ ก็มีกระแสที่ได้ยินมาว่ามีแนวทาง 3 ทาง คือ เดินหน้าโหวต กรณีร่างไม่สามารถนำไปโหวตให้ความเห็นชอบได้ และเลื่อนการโหวตออกไป โดยยอมรับว่าเป็นไปได้ที่จะมีการเลื่อนออกไป แต่อยู่ที่สมาชิกหารือ
นายพรเพชร ระบุอีกว่า การโหวตเป็นดุลยพินิจของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคน รวมถึงสมาชิกที่เป็น ส.ว. แต่ไม่ว่าจะโหวตให้ความเห็นชอบต่อร่างกฏหมายหรือไม่ ในวาระที่ 3 โดยผลออกมาก็จะมีผลกระทบทางการเมืองพอสมควร เพราะหากที่ประชุมให้ความเห็นชอบเชื่อว่าจะมีบุคคลไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในภายหลัง
หากไม่เห็นชอบ ส.ว.ก็จะถูกมองเป็นเป้า เพราะหากไม่ครบ 84 เสียงก็จะตกเป็นจำเลยทางการเมือง ซึ่ง ส.ว.ก็ต้องอธิบาย ว่ารัฐสภาจะเดินหน้าได้อย่างไร จะยกร่างฉบับใหม่หรือไม่ ไม่ใช่แค่การเอาชนะคัดค้าน แต่จะต้องหารือกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ
นอกจากนี้ นายพรเพชร ย้ำว่า การประชุมวิปวุฒิสภาในวันนี้จะหารือทุกเรื่อง ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนแล้วว่าอำนาจในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นของรัฐสภา และหากเห็นว่าควรยกเลิกและมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะต้องขออำนาจประชาชนในการทำประชามติ
หลังจากยกร่างใหม่แล้วเสร็จต้องทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง แต่ร่างที่ค้างอยู่ในวาระประชุมนั้นยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะเดินหน้าต่อโดยยึดจากร่างที่ได้ทำมาไปต่อยอดทำประชามติได้หรือไม่ ซึ่งบางคนบอกว่า ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีสาระบางเรื่องขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
แท็กที่เกี่ยวข้อง: